สาธารณสุข พัฒนาศักยภาพหมอพื้นบ้านทั่วประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยและประเมินรับรองให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยไม่ต้องสอบ ขณะนี้      มีหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์รักษา 20 ปีขึ้นไป 16,584 คน ในปี 2553 ได้ขอประเมินเบื้องต้นไปแล้ว 641 คน

วันนี้ (14 กรกฎาคม 2553) ที่บริเวณหน้าเมือง กระบี่ไนท์พลาซ่า จ.กระบี่ ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานรวมพลังสร้างสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านครั้งที่ 3 ของ 14 จังหวัดภาคใต้ ภายใต้ชื่องานผักพื้นบ้าน อาหารเป็นยา ภูมิปัญญาปักษ์ใต้ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2553 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย ทางด้านการแพทย์แผนไทย อนุรักษ์คุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ส่งเสริมพัฒนาการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านในชุมชนและในระบบสุขภาพ โดยมีการนำข้าวสังข์หยด จากจังหวัดพัทลุง และพืชผักสมุนไพรสำหรับปรุงข้าวยำของเครือข่าย 14 จังหวัดภาคใต้ มาปรุงข้าวยำ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แจกให้ผู้มาร่วมงานรับประทานกันเต็มที่
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งพัฒนาการแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานทางวิชาการที่เป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้แน่ชัดถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทางวิชาการของวงการแพทย์ทั้งในประเทศและระดับสากล ซึ่งประเทศไทยมีการพัฒนาเรื่องนี้มายาวนาน มีบุคลากรด้านแพทย์แผนไทย 7 กลุ่มใน 75 จังหวัด รวม 55,635 คน ประกอบด้วย 1. ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยและสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ 3,821 คน 2.กลุ่มหมอพื้นบ้าน 45,544 คน 3.กลุ่มองค์กรเอกชนพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทย 505 คน 4.กลุ่มผู้ผลิตหรือจำหน่ายยาแผนไทย 1,668 คน 5.ผู้ปลูกหรือแปรรูปสมุนไพร 2,400 คน และกลุ่มนักวิชาการ 1,697 คน โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กำลังดำเนินการพัฒนาศักยภาพอย่างเข้มข้น
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากลุ่มหมอพื้นบ้านะประสบปัญหาในการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ เนื่องจากบางคนมีอายุมาก ไม่มีคุณวุฒิการศึกษา แต่อาศัยการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษสืบต่อกันมา ซึ่งหลังจากที่พระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาไทยและสมุนไพร พ.ศ.2542 ทำให้หมอพื้นบ้านกลายเป็นหมอเถื่อนหรือหมอผิดกฎหมาย อยู่นอกระบบ ขณะนี้มีหมอพื้นบ้านขึ้นทะเบียนกับสำนักคุ้มครองภูมิปัญญา 47,779 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีประสบการณ์รักษาผู้ป่วย 20 ปีขึ้นไป จำนวน 16,584 คน กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย จัดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพการรักษาให้เป็นไปตามาตรฐานทางวิชาการ ทั้งเรื่องวิธีการรักษา การใช้ยาสมุนไพรและการดูแลผู้ป่วย หากประเมินแล้วได้มาตรฐานและได้ผลทางการรักษา จะรับรองให้ได้รับใบประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยโดยไม่ต้องสอบ ซึ่งจะทำให้หมอพื้นบ้านเกิดขวัญกำลังใจ และร่วมพัฒนาสูตรตำรายาสมุนไพรต่างๆในการรักษาผู้ป่วยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ในปี 2553 นี้ มีผู้ขอประเมินเบื้องต้นแล้ว 641 คน
ดร.พรรณสิริกล่าวอีกว่า ในส่วนของหมอพื้นบ้านใน 14 จังหวัดภาคใต้ พบว่ามีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น การนวดกระตุ้นต่อมน้ำนมหญิงหลังคลอดโดยโต๊ะบิแดของจังหวัดนราธิวาส ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่การใช้สมุนไพรรักษาโรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายของจังหวัดปัตตานี เป็นต้น นอกจากนี้โครงการรวมพลังสร้างสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย ปีนี้จะสัญจรไปจัด ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัด     จันทบุรี ระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2553 
************************** 14  กรกฎาคม  2553


   
   


View 25    14/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ