พัฒนาคุณภาพมาตรฐานศูนย์เด็กเล็ก 20,043 แห่งทั่วไทย ให้อยู่ระดับดีและดีมาก ภายในปี 2555 ระดมพลัง อสม.เคาะประตูบ้านแนะนำพ่อแม่ 

วันนี้ (12 กรกฎาคม 2553) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชนเพื่อพัฒนาสุขภาพอนามัยและพัฒนาการของเด็กปี 2553-2555 ว่า ขณะนี้มีศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ จำนวน 20,043 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเบื้องต้น 15,426 แห่ง ยังไม่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้น 4,617 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 23 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าหมายว่า ใน 3 ปี คือภายในปี 2553- 2555 ต้องทำให้ศูนย์เด็กเล็กทุกแห่ง ผ่านเกณฑ์ระดับดีและดีมาก โดยเกณฑ์มาตรฐานมี 3 ระดับ  ระดับ 1 คือ ระดับพื้นฐาน ต้องผ่านเกณฑ์ 9 ข้อ ระดับ 2 คือ ระดับดีต้องผ่านเกณฑ์ 17 ข้อ และระดับ 3 คือ ระดับดีมากต้องผ่านเกณฑ์ 27 ข้อ  โดยจะมีทีมออกไปประเมินผลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทั้งทางด้านกายภาพ ครูพี่เลี้ยง โภชนาการ อนามัยสิ่งแวดล้อม ห้องเรียน รวมทั้งสถานที่ เช่น ห้องสุขา เป็นต้น  ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณพัฒนาศูนย์เด็กเล็กแล้ว 265 ล้านบาท ในปี 2553 จำนวน 94 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 78 ล้านบาท และปี 2555 จำนวน 92 ล้านบาท ซึ่งกรมอนามัยจะเป็นผู้จัดสรรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
 
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละ 8 แสนคน ขณะนี้มีเด็กอายุแรกเกิดจนถึง 5 ปี รวมปีละ  4.5 ล้านคน  กลุ่มเด็กวัยนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะพัฒนาการของเด็กจะสูงสุดช่วงอายุแรกเกิดถึง  2 ปี สมองมีการเจริญเติบโตรวดเร็วมากถึงร้อยละ 80 ของสมองผู้ใหญ่  ถ้าสมองของเด็กวัยนี้เจริญเติบโตช้าหรือหยุดชะงักด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ไม่เหมาะสม เด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ขาดสารไอโอดีนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองเด็ก จะส่งผลให้พัฒนาการของเด็กไม่เหมาะสมกับอายุ ร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อย เมื่อเข้าโรงเรียนจะเรียนไม่ทันเพื่อน
  
  
 
“ผลการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยของกรมอนามัยปี 2550 พบว่า เด็กอายุ 1-5 ปี มีพัฒนาการเหมาะสมกับอายุของเด็กเพียงร้อยละ 67.7 หรือ 3 ล้านกว่าคน  จึงเท่ากับว่าแต่ละปีมีเด็กไทยกว่า 1 ล้านคน ที่มีพัฒนาการด้อย โดยเฉพาะพัฒนาการด้านภาษาพบว่าล่าช้ามากกว่าพัฒนาการด้านอื่น ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะถ้าเด็กไม่เข้าใจภาษา พูดช้า เด็กก็จะเรียนรู้ช้าและระดับสติปัญญาจะด้อยไปด้วย” นายจุรินทร์กล่าว
 
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาให้เด็กไทยมีพัฒนาการสมวัยนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กไทยตั้งแต่แรกเกิดทั้งที่อยู่กับพ่อแม่และเด็กในศูนย์เด็กเล็ก โดยใช้กลยุทธ์ 4 แผนงาน ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 ร่วมกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กมอบหนังสือเล่มแรกหรือบุ๊ค สตาร์ท ( Book start) ให้เด็กแรกเกิด 0-1 ปี คนละ 3 เล่มฟรี เป็นสื่อส่งเสริมพัฒนาการให้พ่อแม่อ่านให้ลูกฟัง เพราะเด็กสามารถได้ยินเสียงพ่อแม่และมองเห็นได้แล้ว หนังสือเล่มที่ 1 ชื่อหนังสือตั้งไข่ล้ม
สำหรับเด็กแรกเกิด พ่อแม่ใช้ส่งเสริมพัฒนาการและสร้างความผูกพันกับลูก เล่มที่ 2 ชื่อหนังสือติ๊กต็อก มอบให้เด็กอายุ 6 เดือนที่มารับวัคซีน ให้พ่อแม่สอนลูกให้เรียนรู้เรื่องเวลา และเล่มที่ 3 นิทานอีสป มอบให้เด็กอายุ 12 เดือนที่มารับวัคซีน ให้พ่อแม่ใช้ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้กับลูก ซึ่งในปี 2553 นี้ มีเด็กได้รับมอบหนังสือเล่มที่ 1 จำนวนกว่า 3 แสนคนทั่วประเทศ
                    
                      
 
ทั้งนี้ จากการติดตามประเมินผลของโครงการหนังสือเล่มแรกในกลุ่มเด็กอายุ 6 ปี พบว่า หนังสือเล่มแรกทำให้พ่อแม่ลูกได้ใกล้ชิดและมีความสุขร่วมกันมากขึ้น พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กใช้เวลากับเด็ก ร้องเพลง เล่านิทาน และอ่านหนังสือกับเด็กมากขึ้น ที่สำคัญคือพัฒนาการของเด็กที่พ่อแม่ใช้หนังสือกับเด็ก   มีพัฒนาการด้านภาษา ความเข้าใจ ด้านความคิด การตั้งใจจดจ่อ สติปัญญาด้านความจำ การอ่าน การเขียน ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่อยู่ในวัยทารก
 
แผนงานที่ 2 พัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศจำนวน 20,043 แห่ง ให้มีคุณภาพ ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ระดับดีและดีมากทุกแห่งทั่วประเทศภายในปี 2555  ด้วยการพัฒนาครูผู้ดูแลเด็ก ทุกคนให้มีความรู้ ความเข้าใจกระบวนการส่งเสริมสุขภาพทุกองค์ประกอบ ทั้งด้านพัฒนาการ สุขภาพอนามัย ภาวะโภชนาการ การเจริญเติบโต และอนามัยช่องปาก รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยแก่เด็ก  แผนงานที่ 3 พัฒนาศักยภาพอสม.ซึ่งได้ลงทะเบียน 987,019 คนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กตั้งแต่แรกเกิด–5 ปี ด้วยการออกแนะนำแก่พ่อแม่ และช่วยเหลือครูผู้ดูแลเด็กได้
 
สำหรับแผนงานที่ 4 คือ กำกับและติดตาม ประเมินผล การทำงานให้สำเร็จ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง และจังหวัด รวมทั้งมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกรุงเทพมหานคร   ซึ่งกลยุทธ์ทั้ง 4 แผนงานจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กไทยเจริญเติบโตอย่างสมวัยและมีพัฒนาการที่ดีอย่างยั่งยืน
***************************************** 12 กรกฎาคม 2553


   
   


View 20    12/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ