สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 617 View
- อ่านต่อ
เพิกถอนทะเบียนตำรับยาแล้ว ตัดวงจรมืดส่งขายตามแนวชายแดน ป้องผู้บริโภคทั้งไทยและเทศปลอดภัย ยึดของกลางได้ทั้งยาฉีด ยาเม็ด มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
วันนี้ ( 7 กรกฎาคม 2553 ) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) และคณะ ได้นำหมายค้นของศาลเข้าตรวจโรงงานยาชื่อ บจก.ลิวินเนอร์ ฟาร์มาซูติคอล ตั้งอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 48 ถนนลาดพร้าว กทม. หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบโรงงานผลิตยา ซึ่งคาดว่าอาจจะมีการผลิตยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชน
นายจุรินทร์กล่าวว่า ผลการตรวจปรากฏพบว่าโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานจีเอ็มพี ( GMP) ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่จะไม่พบการผลิตและผู้นำตรวจสถานที่อ้างว่า โรงงานนี้ไม่มีการผลิตตั้งแต่ปี 2548 อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการลักลอบผลิตยาในช่วงกลางคืน และนำมาเก็บที่อาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ห้องเลขที่ 87 ซอยลาดพร้าว 48 แยก 1 โดยยาของกลางที่ตรวจพบในวันนี้มี 4 กลุ่มได้แก่ 1. ยาบรรจุสำเร็จรูป มีทั้งยาฉีดและยาเม็ด ยาบรรจุแคปซูล รวม 26 รายการ เช่น วิตามินบี 1,6,12 ชนิดฉีด ยาเม็ดเดกซาเมทาโซน ยาเม็ดเตตร้าไซคลิน เป็นต้น ในจำนวนนี้มียาประเภทแก้ปวด ลดไข้ ที่ อย. ถอนทะเบียนตำรับยาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2550 จำนวน 2 รายการ คือยาเม็ดและยาฉีดไดไพโรน ที่มีชื่อการค้าว่าวินเนจิน (WINAGIN) เนื่องจากมีอันตรายต่อไตและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาแล้ว 2.ยาที่ผลิตเป็นเม็ดแล้วแต่ยังไม่บรรจุ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมสีชมพูเข้ม 3. ผงยากึ่งสำเร็จรูปบรรจุในถุงพลาสติก และ 4. วัตถุดิบในการผลิตยา โดยยาที่ผลิตทั้งหมดได้นำไปส่งขายตามแนวชายแดน ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด หนองคาย อ.แม่สอด จ. ตาก ระนอง และชุมพร ของกลางที่ยึดได้ทั้งหมดมีมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
ได้แจ้งข้อหาฐานผลิตยาแผนปัจจุบันที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 4 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท , ข้อหาผลิตยาแผนปัจจุบันไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง มีโทษปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 1 หมื่นบาท , ข้อหาผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันไม่แจ้งเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสถานที่ผลิต มีโทษปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 1 หมื่นบาท และข้อหาผลิตยาแผนปัจจุบันผิดมาตรฐานที่กำหนดไว้ในทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 4 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท
นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ ตำรวจอย่างแข็งขัน มีนโยบายที่ชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับการดูแลทั้งด้านอาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ให้ปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส จะช่วยให้การจับกุมดำเนินคดี อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอางค์ที่ผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค ก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนมายังผู้ผลิตยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณทุกราย อย่าได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายในการผลิตยาใดใดที่มิได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง ที่สำคัญ ควรมีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของ อย. จะมิให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคท่านใดพบเห็นการผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่คาดว่าจะเป็นอันตราย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชั้น 1 ตึก อย. หรือ สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.thหรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่พบการกระทำผิดนั้นๆ นอกจากนี้ สามารถร้องเรียนได้ที่ บก.ปคบ. ตู้ ปณ. 459 ปณศ. สามเสนใน พญาไท กทม. 10400 เพื่อ อย. จะได้ร่วมกับ บก.ปคบ. ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ