ประชาชนอย่าตระหนกเนื้อหมูที่จำหน่ายในตลาดปลอดภัย แต่หมูป่วยตายห้ามนำมาชำแหละเป็นอาหารหรือขาย เตือนผู้เลี้ยงหมูหากเป็นหวัดรีบพบแพทย์เพื่อความมั่นใจ แม้ว่าโรคนี้จะไม่ติดต่อถึงคน

วันนี้(1 กรกฎาคม 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่มีข่าวหมูป่วยและล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ว่า กรณีหมูตายเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ต้องเข้าไปดูแล และได้รับรายงานว่ากรมปศุสัตว์เข้าไปดูแลแล้ว ในส่วนที่เป็นห่วงว่าจะติดมาสู่คนหรือไม่นั้น ทางวิชาการยังไม่พบว่าโรคนี้จะระบาดมาสู่คน ตนได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคายเข้าไปดูแล หากพบผู้ป่วยเป็นหวัดหรือสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะพื้นที่นั้นและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งแนะนำวิธีการปฏิบัติตัว หากหมูที่เลี้ยงไว้ตายต้องฝังกลบ แจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ให้รับทราบ ถือว่าเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ส่วนที่จะกระทบต่อประชาชนที่บริโภคเนื้อหมูหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกเนื่องจากเนื้อหมูที่วางขายในท้องตลาด มีความปลอดภัย โดยก่อนชำแหละได้ผ่านการตรวจสอบด้านสุขภาพจากปศุสัตว์แล้ว และโรงฆ่าสัตว์ก็ได้ผ่านมาตรฐาน แต่ขอให้ระมัดระวังเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาด และต้องขอความร่วมมือผู้เลี้ยงหมู หากมีหมูตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ห้ามนำมาบริโภคหรือชำแหละไปขายเด็ดขาด ต้องฝังทำลายเท่านั้น ส่วนผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดควรไปพบแพทย์ เพื่อความมั่นใจแม้จะยังไม่มีการระบาดมาสู่คน
ด้าน ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายในเบื้องต้นว่า เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในหมู ไม่ติดต่อสู่คน ได้ประสานไปยังกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการตรวจวิเคราะห์ต่อไป   และเร่งยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อ อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ ขอเตือนให้ประชาชนรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดูแลภาชนะที่ใช้ปรุงอาหารหรือรับประทานอาหารให้สะอาดอยู่เสมอ และเพื่อความปลอดภัย ขอแนะนำให้ประชาชน อย่านำเนื้อสัตว์ที่ตายหรือเนื้อหมูที่ตายในครั้งนี้มารับประทานอย่างเด็ดขาด 
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า หมูที่ตายที่อำเภอศรีเชียงใหม่จังหวัดหนองคาย เป็นหมูที่ป่วยด้วยโรคพี อาร์ อาร์ เอส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคประจำถิ่นที่เกิดขึ้นในสัตว์และพบได้ทั่วโลก โรคนี้เป็นโรคที่พบเฉพาะในหมูไม่ติดในคนแม้คนจะคลุกคลีกับหมู แต่เชื้อสามารถติดมากับเสื้อผ้า ผู้เลี้ยงผู้สัมผัสแพร่ไปสู่หมูตัวอื่นได้ การสังเกตอาการหมูที่ป่วย หมูจะมีไข้สูง ตัวแดง หายใจไม่สะดวก เพื่อความปลอดภัยและควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้างขอแนะนำให้ผู้เลี้ยงหมูอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และเสื้อผ้าหลังออกจากคอกหรือฟาร์มเลี้ยง
 
 *************************************************   1 กรกฎาคม 2553


   
   


View 17    01/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ