บ่ายวันนี้(28 เมษายน 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ ประจำปี 2553 ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ เพื่อรวมพลัง สร้างความตระหนัก ย้ำเตือนให้ประชาชนเห็นผลร้ายของการขาดสารไอโอดีน ซึ่งทำให้ร่างกายและสมองเจริญเติบโตด้อยลง   ระดับสติปัญญาด้อยจนถึงขั้นปัญญาอ่อน   ซึ่งสามารถป้องกัน ควบคุมและแก้ไขได้ โดยใช้เกลือหรือน้ำปลาเสริมไอโอดีน ในการปรุงและประกอบอาหาร และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เสริมไอโอดีน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเสริมไอโอดีน ไข่เสริมไอโอดีน

                                    

          นายจุรินทร์ กล่าวว่า โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน เป็นโครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยและพระราชทานพระราชดำริเรื่องนี้อยู่เสมอ เนื่องจากการขาดสารไอโอดีนยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งสารไอโอดีนมีประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งคลอดและตลอดชีวิต หากร่างกายขาดสารไอโอดีนจะเสี่ยงต่อความไม่สมบูรณ์ทางด้านร่างกาย เสี่ยงต่อความพิการ หรือเสี่ยงต่อสภาพที่มีผลกระทบทางสมอง เช่น มีไอคิวต่ำกว่าปกติ หรือปัญญาอ่อน ซึ่งมีผลการวิจัยเป็นที่ยอมรับมาแล้วทั่วโลก   ดังนั้นสารไอโอดีนจึงมีความสำคัญยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ  
          มีผลสำรวจพบตัวเลข ที่ทำให้ไทยต้องมาทบทวนกระบวนการส่งเสริมการบริโภคสารไอโอดีน โดยพบว่า ในปี 2551 มีครัวเรือนไทยที่บริโภคเกลือเสริมไอโอดีนร้อยละ 82 แต่ในปี 2552 ลดลงเหลือร้อยละ 77 และพบว่าไอคิวของเด็กไทยเฉลี่ยในปี 2540 อยู่ที่ 91 แต่ในปี 2545 ลดลงเหลือเพียง 88 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยซึ่งควรจะอยู่ที่ 90-110   ถือว่าคนไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ทางคุณภาพร่างกายและสมอง ดังนั้นจะต้องมารณรงค์กันอย่างจริงจัง เนื่องจากสารไอโอดีนจะมีความสำคัญในการพัฒนาทั้งร่างกายและสติปัญญาให้กับคนไทย 
                                
 นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน   3 ประการ ได้แก่ 1. กำหนดมาตรการแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ให้เป็นไป ตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร ไม่เกินร้อยละ 50 เพื่อให้ทารกที่คลอดออกมาได้รับสารไอโอดีนที่พอเพียง ซึ่งจากผลการสำรวจล่าสุดในปี 2552 พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตรร้อยละ 59 2. การบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 153 ที่ให้เกลือบริโภคเป็นอาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อเกลือ 1 กิโลกรัม   และ 3. การรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน เรื่องอันตรายการขาดสารไอโอดีนมีผลกระทบต่อร่างกายและสติปัญญา   โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล อสม. ในการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน และเฝ้าระวัง เช่น ดูแลการผลิตจำหน่ายเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆที่เสริมไอโอดีนที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการขจัดโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากไทย และเป็นการเสริมสร้างสติปัญญาคนในชาติ ให้พัฒนาได้เต็มศักยภาพ
******************** 28 มิถุนายน 2553


   
   


View 23    28/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ