ปลัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานศึกษาแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากร เบื้องต้นมี 3 แนวทางเลือก คืออยู่กับ กพ.เหมือนเดิม แนวทาง 2 คือการแยกจาก กพ.และ3.การตั้งกองทุนกระทรวงสาธารณสุข เงินเดือนเจ้าหน้าที่สูงกว่าระบบราชการ มีเงินดำรงชีพหลังเกษียณอายุ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อดีข้อเสีย และทำประชาพิจารณ์ เมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตัดสินใจต่อไป
          วันนี้ (17 มิถุนายน 2553) ที่ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรีนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาเรื่อง การแยกข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจาก กพ. ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ มีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเรื่องใหญ่ ได้แก่ การขาดแคลนบุคลากรทุกระดับ และบุคลากรที่เข้ามาอยู่ในระบบแล้ว จะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้บุคลากรเกิดความไม่มั่นใจ คือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น หากได้รับบริการที่ไม่พึงพอใจ ก็อาจเกิดการฟ้องร้องตามมา
          นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาบุคลากร กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ 3 แนวทาง แนวทางแรกคือ การอยู่ในระบบ กพ.เหมือนเดิม แต่มีการต่อรองกับรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจาปีต่อปี แนวทางที่ 2 คือการพิจารณาว่าจะแยกออกจาก กพ.หรือไม่ และแนวทางที่ 3 คือตั้งกองทุนของกระทรวงสาธารณสุข คล้ายกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยมีการสมทบจ่ายระหว่างภาครัฐและเจ้าหน้าที่ ซึ่งพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในระบบนี้ จะได้รับเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดในระยะยาว โดยได้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด มีนายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีตัวแทนจากทุกสาขาวิชาชีพ มาร่วมศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้มีบุคลากรทำงานในกระทรวงสาธารณสุขอย่างเพียงพอ และมีความสุขในระดับหนึ่ง เมื่อศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางแล้ว จะมีการทำประชาพิจารณ์ต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับทุกคนที่ทำงานในกระทรวงของสาธารณสุข จึงต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น บุคลากรมีภาระงานมากขึ้น แต่สัดส่วนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นอาจไม่เพียงพอกับสัดส่วนผู้ป่วย ขณะเดียวกันต้องเข้าใจรัฐบาลซึ่งจะต้องควบคุมจำนวนข้าราชการไม่ให้เพิ่มขึ้น เพราะจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณ ส่งผลให้ไม่มีเงินในการพัฒนาประเทศ จึงต้องหาแนวทางอื่นๆ ด้วยนอกเหนือการออกจาก กพ. เช่น การผสมผสานข้าราชการระบบเดิม กับระบบใหม่ที่พนักงานไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่เงินเดือนสูงขึ้นและมีกองทุนให้เมื่อเกษียณก็จะมีเงินที่ใช้ดำรงชีพต่อไปได้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างเร่งศึกษาให้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเข้าใจความรู้สึกของคนทำงานว่ามีความลำบาก ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีข้าราชการและลูกจ้างกว่า 240,000 คน และลูกจ้างชั่วคราวอีกประมาณ 100,000 คน ซึ่งในการแก้ไขปัญหาจะต้องคิดให้รอบคอบทั้งระบบ และฟังข้อสรุปของแต่ละแนวทางให้ได้ข้อมูลทั้งหมด เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป
 ************************** 17 มิถุนายน 2553


   
   


View 30    17/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ