นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการออกประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยรูปแบบและวิธีการแสดงข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2553 ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ว่า ประกาศดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 ได้ลงนามในร่างประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่  28 พฤษภาคม 2553เป็นต้นไป

นายจุรินทร์กล่าวว่า ตามประกาศฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ในการโฆษณาครอบคลุมสื่อทุกประเภท โดยกำหนดให้มีการแสดงข้อความคำเตือนทุกครั้ง และตลอดเวลาที่มีการแสดงภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กำหนด รูปแบบข้อความคำเตือน ดังต่อไปนี้
          กรณีใช้สื่อโทรทัศน์ การฉายภาพ ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ การแสดงภาพโดยผ่านเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใดทำนองเดียวกัน ให้แสดงข้อความ คำเตือนแบบเสียงต้องรับฟังได้ชัดเจน สามารถเข้าใจความหมายได้ โดยมีระดับเสียงเท่ากับข้อความหลักของโฆษณา และแสดงเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 วินาที ส่วนข้อความคำเตือนแบบอักษร ต้องเป็นอักษรลอย (super) ด้วยตัวอักษรไทยแบบ อังสะนา นิว สีขาวอยู่ในกรอบคำเตือนที่มีพื้นสีดำเข้ม สามารถอ่านได้ง่าย มองเห็นชัดเจน มีขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรอบข้อความคำเตือน โดยพื้นที่ของกรอบต้องเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่โฆษณา มีความยาวตลอดแนวนอนชิดขอบบนจอภาพ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 วินาที
          กรณีใช้สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อประเภทอื่น ต้องแสดงข้อความคำเตือนด้วยตัวอักษรไทยแบบ อังสะนา นิว สามารถอ่านได้ง่าย มีขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรอบข้อความคำเตือน ใช้ตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีดำเข้ม โดยพื้นที่ของกรอบต้องเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่โฆษณา มีความยาวตลอดแนวนอนชิดขอบบนของพื้นที่โฆษณา
          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า คำเตือนที่ใช้แสดงมีทั้งหมด 5 แบบให้แสดงได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่              1.สุรา เป็นเหตุก่อมะเร็งได้ 2.สุรา เป็นเหตุให้เซ็กส์เสื่อมได้ 3.สุรา เป็นเหตุให้พิการและเสียชีวิตได้             4.สุรา เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้ และ 5.สุรา ทำร้ายครอบครัว ทำลายสังคมได้ ทั้งนี้หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประเภท เบียร์ หรือไวน์ให้เปลี่ยนคำว่าสุราเป็น เบียร์ หรือ ไวน์ด้วย
         
*************************************       8 มิถุนายน 2553


   
   


View 14    08/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ