อปท.ยกเลิกการซื้อ และให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาชุดตรวจคุณภาพนมให้โรงเรียนตรวจเองได้ เผยนมที่มีคุณภาพจะทำให้เด็กไทยทั้งสูง และไอคิวดี เฉลี่ยขณะนี้เด็กไทยดื่มนมปีละ 12 ลิตรต่อคน ต่ำกว่าเด็กญี่ปุ่น ออสเตรเลีย 3-8 เท่า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สมยศ  ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจเยี่ยมการตรวจคุณภาพนมโรงเรียนเพื่อควบคุมมาตรฐาน ที่โรงเรียนเทศบาลวัดไก่ดี (สังวรจันทสรราษฎรวิทยา) อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และให้สัมภาษณ์ว่า การตรวจคุณภาพนมโรงเรียนเป็นหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ต้องรับผิดชอบดูแลตามมติคณะรัฐมนตรี   ได้สั่งการให้มีการตรวจโรงงานที่ผลิตและจำหน่ายนมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะส่งให้โรงเรียนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ขณะเดียวกันจะต้องมีการตรวจคุณภาพนมเป็นระยะ ขณะนี้ได้ประสานให้โรงเรียนมีการตรวจเบื้องต้น เช่น ตรวจทางด้านกายภาพ ว่านมเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดให้หรือไม่ ส่วนการตรวจเชิงลึกหาแบคทีเรียว่ามีการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อเด็ก รวมทั้งการตรวจคุณค่าทางอาหารของนม ซึ่งจะต้องอาศัยห้องแล็บ จะมีการสุ่มตรวจโดยอย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด   ทั่วประเทศเป็นระยะ ๆ ซึ่งในเขต 4 และเขต 5 พบว่ามีบางส่วนที่คุณค่าทางอาหารไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้ ได้สั่งการให้ปรับบริษัทที่จำหน่ายนมหรือบริษัทที่ผลิต และประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเปลี่ยนบริษัทที่จัดซื้อไปแล้ว   ซึ่งเป็นนโยบายที่จะทำเหมือนกันทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง   เพื่อให้ประการแรกเด็กได้ดื่มนมที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ประการที่ 2  เป็นนมที่มีลักษณะทางกายภาพเบื้องต้นที่ถูกสุขลักษณะ

นายจุรินทร์กล่าวว่า เท่าที่สังเกตหลังจากที่มีโครงการให้เด็กนักเรียนดื่มนมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กโตขึ้น สูงขึ้น เพราะว่ามีการส่งเสริมให้ดื่มนมอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่สมัยนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนให้โรงเรียนจัดนมให้เด็กนักเรียนดื่ม แต่ขณะนั้นสนับสนุนให้ดื่มแค่เด็กอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 4 มาถึงรัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จัดงบประมาณให้ดื่มนมตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เน้นเรื่องการดื่มนมเพราะว่า นมมีคุณค่าทางอาหารสูง มีธาตุเหล็กและแคลเซียม ซึ่งผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล หากใครขาดธาตุเหล็ก ความสูงโดยเฉลี่ยจะตำกว่าเด็กปกติประมาณ 10 เซนติเมตร ขณะเดียวกันไอคิวก็จะต่ำกว่าปกติด้วย และหากขาดธาตุเหล็กก็จะเตี้ยและโง่ด้วย

เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลไทยสนับสนุนให้เด็กดื่มนมตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จะมีส่วนช่วยให้เด็กแข็งแรงทั้งร่างกายและสติปัญญาสูงเป็นปกติ ซึ่งใช้งบประมาณลงทุนปีละ 14,000ล้านบาท และในนมมีแคลเซียม ช่วยให้ไม่เป็นโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้นด้วย

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังพัฒนาชุดทดสอบคุณภาพนมอย่างง่าย และให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พิจารณาเครื่องมือที่มีอยู่ในขณะนี้ เพื่อจัดส่งให้โรงเรียนได้ตรวจเองทุกครั้งก่อนให้เด็กดื่ม นอกเหนือจากชุดตรวจนมด้านกายภาพซึ่งใช้เวลาตรวจและทราบผลใน 1วัน โดยอาจตรวจเดือนละ 2 ครั้ง ว่ามีเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ เพื่อส่งคำเตือนให้โรงงานผู้ผลิตและผู้จัดส่ง หากไม่ถูกต้องจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยกเลิกการซื้อ  

ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีข้อมูลทางวิชาการพบว่าเด็กไทยอายุ 1-5 ปีดื่มนมเฉลี่ยวันละ 140 ซีซีต่อวัน ในเด็กโตอายุ 6-14 ปีดื่มนมเฉลี่ย 104 ซีซีต่อวัน ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานที่ควรดื่มให้ได้ 600 ซีซีต่อวัน โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ข้อมูลล่าสุดในปี 2548 เด็กไทยดื่มนมเฉลี่ย 12 ลิตรต่อคนต่อปี ขณะที่เด็กญี่ปุ่นดื่มเฉลี่ยคนละ 39 ลิตรต่อคนต่อปี และเด็กออสเตรเลียดื่มเฉลี่ย 102 ลิตร

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดย อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 265พ.ศ. 2545กำหนดให้นมเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ เพื่อควบคุมคุณภาพนมโค โดยกำหนดให้ในน้ำนมโคต้องไม่มีแบคทีเรียก่อโรค ได้แก่ สแตปฟีโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซัลโมเนลลา (Salmonella spp.)บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus)และ ลิสเตอเรีย โมโนไซโตจีเนส (Listeria monocytogenes)ทำให้โรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง โดยนมจากแหล่งผลิตจะต้องมี    จุลินทรีย์ทั่วๆไปปนเปื้อนไม่เกิน 10,000ตัวต่อซีซี ส่วนแหล่งจำหน่ายหรือที่โรงเรียนจะต้องมีไม่เกิน 50,000 ตัวต่อซีซี

สำหรับผลการตรวจคุณภาพนมโรงเรียนในพื้นที่ 8 จังหวัดในเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 4และ 5 ได้แก่ สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 ตั้งแต่ พ.ศ. 2550-2553 เก็บตัวอย่างตรวจทั้งสิ้น 343 ตัวอย่าง ประกอบด้วย นมโรงเรียน 172 ตัวอย่าง และนมอี่นๆ 171 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีตัวอย่างนมที่ไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 31 ตัวอย่าง เป็นนมโรงเรียน 16 ตัวอย่าง โดยพบจุรินทรีย์ที่บ่งบอกถึงลักษณะการผลิต และมีโปรตีน มันเนย และเนื้อนมต่ำกว่าเกณฑ์ แต่คุณภาพรวมขณะนี้แนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข

********************************     4 มิถุนายน 2553


   
   


View 16    04/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ