ช่วยผู้ประกอบการออกใบแทนใบอนุญาตต่างๆ ที่เสียหายจากเหตุชุมนุมการเมืองเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง จัดอบรมเจ้าหน้าที่กทม.- 24 จังหวัดตามพรก.ฉุกเฉิน จัดทำแผนเยียวยาสุขภาพกายและจิต ลงพื้นที่ช่วยประชาชนภายในสัปดาห์หน้า

          บ่ายวันนี้ (26 พฤษภาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดี และผู้บริหารระดับสูง ร่วมเปิดศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กระทรวงสาธารณสุข ที่ห้องประชุม 2 อาคาร 1 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี พร้อมประชุมคณะกรรมการศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เพื่อติดตามความก้าวหน้าและมอบนโยบายการดำเนินงานฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชุมนุม
 
          นายจุรินทร์กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บ 1,885 ราย เสียชีวิต 88 ราย กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ให้เป็นไปตามนโยบายคืนความสงบสุขให้กับสังคมไทย เพื่อเยียวยาฟื้นฟูสภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดจนผลกระทบเชิงลบต่อสังคม จัดกิจกรรมที่ทำให้ชุมชนร่วมกันทำประโยชน์ ลดความขัดแย้งในสังคม และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ ครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต 88 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บและพิการ 1,885 ราย ผู้ชุมนุมที่ลงทะเบียนในวัดปทุมวนาราม ประมาณ 3,000 คน ชุมชนในกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบ 30 ชุมชน จังหวัดที่มีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน 24 จังหวัด และประชาชนทั่วไป
                             
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว กำหนดนโยบายดำเนินการ 2 ระยะ ในระยะสั้น มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกาย จิตใจ ของบุคคล ชุมชน และสังคม ส่วนในระยะยาวจะลดความขัดแย้ง การเผชิญหน้ากัน ตลอดจนสร้างแนวทางยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 มีคณะกรรมการจากทุกกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 23 คน โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นเครือข่ายในการประสานงานให้ความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 0 2590 1994 จำนวน 5 คู่สาย และโทรสารหมายเลข 0 2590 1993
             
นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขยังมีเป้าหมายให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และอื่น ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เช่นกรณีเอกสารถูกเผา ถูกทำลายหรือสูญหายจากการชุมนุม ได้ให้อย.จัดช่องทางด่วนพิเศษที่ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส เพื่อออกใบแทนให้ผู้ที่จำเป็นต้องแสดงเอกสาร ใบอนุญาตในการผลิต การจำหน่าย การนำเข้า หรือการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง
          
 

ทั้งนี้ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 กรมสุขภาพจิต จะจัดประชุมโดยเชิญปลัดกทม. ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และเจ้าหน้าที่กทม. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องใน 24 จังหวัดตามพรก.ฉุกเฉิน รวม 500 คน เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน ขณะเดียวกันได้ให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 1 ชุดจัดทำแผนคู่ขนานกับการอบรม เป็นแผนปฏิบัติการที่ให้การดูแลทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองในพื้นที่ 30 ชุมชนใน 7 เขตของกทม.และต่างจังหวัด 24 จังหวัด ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์ และลงพื้นที่ดำเนินการทันทีภายในสัปดาห์หน้า พร้อมรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานในที่ประชุมผู้บริหารทุกสัปดาห์ 

                                      
 
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงานให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพทั้งร่างกายและจิตใจ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ผู้เสียชีวิตและครอบครัว ผู้บาดเจ็บ และผู้เข้าร่วมชุมนุม รวมประมาณ 5,000 คน 2.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ชุมนุม ได้แก่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และผู้ประกอบการ มอบให้เลขาธิการ อย.ดูแล และ3.ประชาชนที่อยู่ใน 24 จังหวัดตาม พรก. ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมมือกับ สสส., สปสช. และเครือข่ายดำเนินการต่อไป
 
ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลสรุปการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม – 26 พฤษภาคม 2553 กรมสุขภาพจิตได้ติดตามเยี่ยมบ้านครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว 42 ครอบครัวและติดตามผ่านการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 1 ครอบครัว คาดว่าจะครบทั้ง 88 ครอบครัวภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ในกลุ่มผู้บาดเจ็บ 1,865 คน ได้เยี่ยมขณะพักในรพ. 212 คน เยี่ยมในชุมชน 340 คน รวม 552 คน ส่วนกลุ่มประชาชนในเหตุการณ์ชุมนุม โดยเฉพาะในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ตามทะเบียนกระทรวงมหาดไทยมีประมาณ 3,000 คน ได้เยี่ยมขณะพักในรพ. 3 คน เยี่ยมในชุมชน กทม. 1,516 คน และจะทำแผนติดตามเยียวยาในต่างจังหวัดต่อไป สำหรับในระดับชุมชนที่ได้รับผลกระทบตรง 30 ชุมชนและประชาชนประมาณ 1,500 คน ขณะนี้ติดตามเยี่ยมได้ 11 ชุมชน ดูแลประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ รวม 497 คน ขณะเดียวกันได้ส่งทีมจากกรมสุขภาพจิต ร่วมกับกรมการแพทย์ และกทม. รวม 8 ทีมลงพื้นที่เยียวยาทั้งหมด 6 ครั้ง และออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จากกรมสุขภาพจิต ร่วมกับกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกทม. 6 ทีม จำนวน 4 ครั้ง 
*********************************** 26 พฤษภาคม 2553


   
   


View 13    26/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ