สาธารณสุข เตือนผู้ปกครอง ครู ระวังโรคมือเท้าปาก ในปีนี้โรคส่อแววอาจระบาดได้ ชี้รอบ 4 เดือน พบผู้ป่วยแล้วกว่า 6,000 ราย สูงเกือบเท่าตลอดปี 2552 โดยร้อยละ 90 อายุน้อยกว่า 4 ขวบ ย้ำศูนย์เด็กเล็ก เนิร์สเซอรี่ โรงเรียนอนุบาล สวนสนุกในห้าง ให้เข้มความสะอาดเป็นพิเศษ หากพบเด็กมีไข้ เจ็บปาก มีตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ขอให้สงสัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก รีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ป้องกันไม่ให้ติดเด็กคนอื่น และรีบพาไปพบแพทย์ หยุดรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างเด็กป่วยไม่ควรพาไปสนามเด็กเล่น หรือห้างสรรพสินค้า นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงการเปิดภาคเรียนและสภาพอากาศกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูฝน โรคที่น่าห่วงและมักแพร่ระบาดในฤดูฝน ได้แก่ โรคมือเท้าปาก (Hand foot mouth disease) ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส โรคนี้พบประปรายได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากสภาพอากาศเย็นและชื้น กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กอนุบาล เด็กเล็ก เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานโรค จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรครอบ 4 เดือนแรกในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 6,083 ราย เกือบร้อยละ 90 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยในภาคกลางและภาคใต้ พบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มอายุ 1 ปี และ 3 ปี ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมากในเด็กอายุ 2 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 ที่มีผู้ป่วยทั้งปีรวม 6,823 ราย เสียชีวิต 3 ราย ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์โรคมือเท้าปากในปีนี้มีสัญญาณอาจระบาดได้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนในการช่วยกันป้องกันโรค ดูแลลูกหลานไม่ให้ป่วย โดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กที่ดูแลเด็กจำนวนมาก สวนสนุกตามห้างสรรพสินค้า ต้องขอความร่วมมือให้ระมัดระวังความสะอาดทั้งสถานที่ เครื่องใช้ และของเล่นเด็กเป็นพิเศษ ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) เป็นไวรัสเจริญในลำไส้ พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งเด็กทารกแรกเกิดอายุไม่ถึง 1 เดือน เชื้อนี้ติดต่อได้ 3 ทาง ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับเชื้อเข้าสู่ปากโดยตรง ติดจากการสัมผัสของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และจากการไอจามรดกัน โดยเชื้อจะแพร่ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย อาการป่วยจะเริ่มหลังติดเชื้อ 3-6 วัน เริ่มจากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ มีตุ่มแดงขึ้นที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กไม่ยอมกินอาหาร และพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงมักไม่คันขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้น หัวเข่า ด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ โดยทั่วไปโรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่ควรพาเด็กเล็กที่ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติได้ภายใน 7-10 วัน แต่มีเชื้อเอนเทอโรไวรัสบางชนิด เช่น ชนิด 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลเด็กใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึมหรือร้องโยเยมาก ไม่กินอาหารหรือไม่ดื่มนมเลย ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะทำให้เด็กเสียชีวิตได้ นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า โรคมือเท้าปากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ความสะอาดสถานที่ เครื่องใช้ต่างๆ ผู้ปกครองควรสอนลูกหลานและผู้ดูแลเด็ก ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ก่อนรับประทานอาหาร ภายหลังขับถ่ายและหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม ตัดเล็บให้สั้นเพื่อไม่ให้เชื้อโรคสะสมในเล็บ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ขวดนม แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดมือ ปฏิบัติทั้งเด็กปกติและเด็กป่วยให้ติดเป็นนิสัย โดยเฉพาะสถานรับเลี้ยงเด็กหรือเนิร์สเซอรี่ โรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ กำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้อง หมั่นดูแลความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องเล่นเด็กต่างๆ หากมีเด็กป่วยต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่เด็กคนอื่น รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วันหรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่นสนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูก ป้องกันเชื้อแพร่ขณะไอจาม ประการสำคัญหากมีเด็กป่วยหลายคน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าโรคมีการระบาด ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยต่างจังหวัดแจ้งที่สถานีอนามัยทุกแห่ง หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในจังหวัดนั้นๆ ในกทม.แจ้งที่สำนักอนามัยหรือศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. หรือที่สายด่วนกระทรวงสาธารณสุข 1422 หรือแจ้งสำนักระบาดวิทยา โทร. 0-2590-1776 เพื่อควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ************************************ 23 พฤษภาคม 2553


   
   


View 18    23/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ