สาธารณสุขลงนามร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด25จังหวัดภาคกลาง ให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับ เป็นเขตห้ามขาย ห้ามดื่ม  ห้ามโฆษณาเหล้า  เผยผลการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เริ่มได้ผล ในปี 2552 คนไทยดื่มเหล้าเบียร์ 2,699 ล้านลิตร ลดกว่าปี 2551 จำนวน178 ล้านลิตร ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนเกือบร้อยละ 8

            วันนี้(6 พฤษภาคม 2553) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์  กรุงเทพฯ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดใน 25 จังหวัดภาคกลาง     ให้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยให้จัดสถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแลเป็นสถานที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย
                                  
              นางพรรณสิริ กล่าวว่า ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ กำหนดให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแลของราชการต้องปฏิบัติดังนี้ 1.ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 2.ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เฉพาะในร้านค้าหรือสโมสรที่เปิดบริการเป็นประจำหรือถาวร  และห้ามขายให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ขายได้เฉพาะในเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นคือเวลา 11.00-14.00 น. และ เวลา 17.00-24.00 น.
                                   
นางพรรณสิริ กล่าวต่อว่า จากการติดตามประเมินผลหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ และมีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายที่ผ่านมา พบว่าในปี 2552 ยอดจำหน่ายเหล้าเบียร์ทั้งหมด 2,699 ล้านลิตร ลดลงกว่าปี 2551 จำนวน 178 ล้านลิตร สามารถลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนจากการซื้อเหล้าเบียร์ดื่มได้ร้อยละ 8 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการให้สถานที่ราชการปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ มาตรการต่อไปจะขยายผลถึงระดับท้องถิ่น คือให้อบต.และพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในกำกับ เป็นเขตปลอดเครื่องแอลกอฮอล์ทั้งการขายการดื่มและการโฆษณาด้วย 
ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนมีโทษดังนี้ 1. การโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท  2. ถ้าขายหรือบริโภคในสถานที่หรือบริเวณต้องห้ามตามกฎหมายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  3. การขายผิดเวลากำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  4. ถ้าขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                    
สำหรับผลการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2551-2552 ได้ตรวจเตือนและตรวจจับดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดรวม 1,116 ราย ศาลจังหวัดต่างๆได้พิพากษาแล้ว 150 คดี ส่วนใหญ่ขายให้ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปีและขายลดราคา หรือแจกแถม แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น รวมทั้งขายหรือดื่มบริเวณสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ ส่วนในรอบ 4 เดือนปี 2553 นี้ ตรวจเตือนในเขต กทม. 259 ราย ดำเนินคดี 172 คดี และทำหนังสือแจ้งผู้ว่าฯให้ดำเนินการ 1 ครั้ง และภาคกลาง อีก 65 ราย ใน 5 จังหวัดที่มีผู้ประกอบการทำผิดซ้ำซาก ได้แก่ ปราจีนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐมและชลบุรี   
    *************************** 6 พฤษภาคม 2553


   
   


View 16    06/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ