วันนี้(19 เมษายน 2553)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ว่า สถิติการบาดเจ็บช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 12 – 18 เมษายน พบอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,516 ครั้ง จังหวัดที่พบอุบัติเหตุมากที่สุดได้แก่ นครศรีธรรมราช รองลงมาคือ เชียงใหม่และพิษณุโลก มีผู้บาดเจ็บ 3,802 ราย เสียชีวิต 361 ราย โดยจังหวัดที่เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา รองลงมา ได้แก่ สระบุรีและเชียงราย

          นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 นั้นแตกต่างจากปีที่ผ่านมาคือพบในถนนสายหลักเพิ่มมากขึ้น จากปีที่แล้วทำให้สถิติใกล้เคียงกับถนนสายรอง จากการตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุพบเกิดจากขับขี่มอเตอร์ไซด์ไม่สวมหมวกกันน็อคและประมาท ร้อยละ 27 เมาสุรา ร้อยละ 26  ขับรถเร็วร้อยละ 20  
          นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังทำการสำรวจในส่วนของเรื่องแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แบ่งเป็น  2 ส่วน ได้แก่ 1.การห้ามขายในสถานที่ห้ามขาย โดยสำรวจที่ปั๊มน้ำมันจำนวน 757 แห่ง พบมีทำผิดจำนวน 50 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับปี 2552 แล้ว (ร้อยละ 15.2) ส่วนเรื่องการขายแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาที่ห้ามจำหน่ายสำรวจในร้านค้าจำนวน 3,369 แห่ง พบทำผิด 258 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.6 ลดลงจากปี 2552(ร้อยละ 18.3) แนวทางที่จะต้องดำเนินการต่อไป กระทรวงสาธารณสุขจะประสานขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดขึ้น เพื่อให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นลดจำนวนลง      นายจุรินทร์ กล่าวในที่สุด
ทางด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการสอบถามผู้ที่กระทำผิดพบว่าร้อยละ 5 ให้เหตุผลว่าไม่รู้กฎหมาย    ส่วนในผู้กระทำผิด แต่รู้กฎหมาย ประมาณ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 27 ให้เหตุผลว่าต้องการมีรายได้มากที่สุด เนื่องจากเทศกาลนี้เหล้าเบียร์จะขายดีมาก   ส่วนที่เหลืออ้างว่ากลัวเสียลูกค้าประจำพบร้อยละ 22 และอีกร้อยละ 25 คิดว่าน่าจะมีการยกเว้นกฎหมายเพราะเป็นช่วงเทศกาล 
          ทั้งนี้จากข้อมูลที่สำรวจพบครั้งนี้   กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนจะเพิ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์กฎหมายให้กว้างขวาง โดยจะขยายลงระดับหมู่บ้านให้มากขึ้น และจะเสนอคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และกรมสรรพสามิต ให้มีการทบทวนการออกและต่อใบอนุญาตการขายสุราให้เข้มงวดขึ้นอีกด้วย เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากเมาหรือดื่มแล้วขับให้ได้    อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในปีนี้มีหลายพื้นที่จัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นสงกรานต์และห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปด้วย   ส่งผลให้ลดความรุนแรงและการทะเลาะวิวาทลงได้ สำหรับ 27 จังหวัดที่ดำเนินการสุ่มสำรวจการห้ามขายสุราในสถานที่ห้ามและเวลาห้ามขายประกอบด้วย นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก สมุทรปราการ เพชรบุรี ขอนแก่น เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และปัตตานี
************************** 19 เมษายน 2553


   
   


View 14    19/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ