กระทรวงสาธารณสุข เปิดคลังภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ให้ครอบครัวใช้สมุนไพรคลายร้อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ ดินสอพอง และน้ำดื่มสมุนไพร สูตรตรีผลา ช่วยดับกระหาย ผิวพรรณสดชื่นเปล่งปลั่ง พร้อมย้ำเตือนประชาชนการใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ผลการตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี 2552 พบไม่ผ่านมาตรฐาน หากนำไปเล่นและสัมผัสบาดแผลหรือสิว อาจทำให้เกิดอักเสบรุนแรง หากเข้าตาอาจถึงขั้นตาบอดได้ หากไม่แน่ใจความปลอดภัย ก่อนใช้ให้นำไปสะตุดินให้สุกก่อน

วันนี้ (5 เมษายน 2553) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางพรรณสิริ   กุลนาถศิริ   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สญชัย วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย เภสัชกรสมนึก สุชัยธนาวนิช หัวหน้าศูนย์พัฒนายาไทย ร่วมแถลงข่าวเรื่อง “การดูแลสุขภาพแบบไทยช่วงสงกรานต์” ว่า

                                   

ประเพณีสงกรานต์ของทุกปี จะตรงกับฤดูร้อนคือช่วงเดือนเมษายน ซึ่งอุณหภูมิจากความร้อนจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจประชาชน โดยในแง่ดีจะช่วยขับเหงื่อขับและของเสียออกจากร่างกายได้ทางหนึ่ง ส่วนผลกระทบด้านร่างกายส่วนใหญ่จะพบปัญหาทางผิวหนัง เช่น ผด ผื่นคัน นอกจากนี้ด้านอารมณ์ก็เช่นกัน ภาวะจากอากาศที่ร้อนมากๆ จะก่อให้เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น เช่น หงุดหงิด   รำคาญ เป็นต้น สงกรานต์ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้นำภูมิปัญญาไทยในการดูแลสุขภาพช่วงฤดูร้อน ประกอบด้วยเครื่องหอม เครื่องดื่มสมุนไพร และเครื่องประทินผิว โดยเครื่องหอมนั้นประกอบด้วย น้ำปรุง น้ำอบไทย แป้งร่ำ   น้ำลอยดอกไม้หอมๆ ช่วยดับร้อน โดยการประพรมร่างกาย ทำให้เย็นสบาย หอมสดชื่น จัดเป็นวารีบำบัด สุคนธบำบัด หรืออโรมาบำบัดนั่นเอง น้ำอบไทยที่ใช้ประเพณีสงกรานต์เพื่อนำมารดน้ำผู้ใหญ่เพื่อขอขมา ขอพรนั้น เป็นความหอมที่มาจากดอกไม้ไทยทั้งสิ้น ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของดอกกุกลาบ มะลิ พิกุล ลำเจียก ชมนาด และดอกแก้ว

ส่วนเครื่องดื่มสมุนไพร ที่อยากแนะนำให้ประชาชนไทยรู้จักและนำมาใช้ดับความกระหาย ได้แก่ เครื่องดื่มสมุนไพรตำรับตรีผลา หรือตรีผล ซึ่งเป็นตำรับยาฤดูร้อน ประกอบด้วยผลไม้ไทย 3 ชนิด ได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม โดยสมอไทย มีรสเปรี้ยวฝาด ขม แทรกด้วยรสเค็ม สรรพคุณช่วยกัดเสมหะ แก้ไอ กระหายน้ำ แก้ท้องผูก แก้ไข้ บำรุงน้ำดี ช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง โดยรสฝาดจะช่วยสมานแผลแก้โรคกระเพาะอาหาร สมอพิเภก มีรสเปรี้ยวฝาด อมหวาน มีสรรพคุณแก้เสมหะ แก้ไข้ และแก้โรคริดสีดวงทวาร ส่วนที่ใช้คือผลแก่เต็มที่ ส่วนมะขามป้อมมีรสเปรี้ยว ฝาดขม สรรพคุณแก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ มีวิตามินซีสูง ในการปรุงเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ใช้อัตราส่วน 1:1:1 เติมน้ำ 3 ลิตร หรือเจือจางกว่านี้ เติมเกลือ น้ำตาล ปรุงรสตามชอบ ชงดื่มในน้ำแข็ง ช่วยให้สดชื่นคลายร้อนได้อย่างดี

                                   

สำหรับเครื่องประทินผิว ที่สำคัญและนิยมใช้ตั้งแต่โบราณ ได้แก่ ดินสอพอง ซึ่งถือเป็นยาสมุนไพรจำพวกแร่ธาตุ โดยนำมาใช้ดูแลสุขภาพร่วมกับสมุนไพรนานาชนิดช่วยแก้ปัญหาผด ผื่นคันผิวหนัง ลมพิษ เช่นหากผสมกับเสลดพังพอนตัวเมียหรือพญายอ และผงขมิ้น จะลดการอักเสบบริเวณผิวหนัง ลมพิษได้ ซึ่งปัจจุบันมีการนำดินสอพองมาใช้ เล่นสงกรานต์โดยนำมาผสมกับสี เพื่อสร้างสีสัน สนุกสนานรื่นเริง             

                                      

ดินสอพองเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติและไม่สามารถระบุคุณภาพด้วยการสังเกตได้ หากกระบวนการผลิตมีการฆ่าเชื้อโรคอย่างถูกสุขลักษณะหรือไม่ได้มาตรฐาน มีโอกาสจะเกิดเชื้อโรคปนเปื้อนของเชื้อจุรินทรีย์ และโลหะหนักได้ง่าย หากนำไปใช้สัมผัสกับผิวหนัง อาจทำเกิดการระคายเคืองได้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอย่างต่อเนื่อง    

ทางด้านนางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลการสุ่มเก็บตัวอย่างดินสอพองจากแหล่งผลิตและร้านค้ามาตรวจทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 22 ตัวอย่าง ในปี 2552 พบว่าทุกตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยพบการปนเปื้อนจุรินทรีย์ และโลหะหนักเกินมาตรฐานกำหนด หากนำมาใช้อาจเป็นอันตรายได้ โดยหากเชื้อจุรินทรีย์เข้าตา หรือบาดแผล หรือสิว อาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง  โดยเฉพาะเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) อาจทำให้ตาอักเสบรุนแรงถึงตาบอดได้    หากเป็นเชื้อ   อี.โคไล ซาโมเนลล่า (E.Coli salmonella spp.) และเชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium spp.) ถ้าเข้าปาก อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียภายใน 8-22 ชั่วโมง หรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

                                  

นางจุรีภรณ์กล่าวต่อว่า ดินสอพองมี 2 ประเภท คือประเภทที่เป็นวัตถุดิบให้โรงงานใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ทีไม่มีโอกาสเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพ และประเภทที่ใช้เป็นเครื่องสำอาง หรือใช้สัมผัสร่างกายโดยตรง เช่นทาหน้า ทาตัว การผลิตดินสอพองประเภทนี้ ต้องปรับปรุงให้มีคุณภาพมาตรฐาน โดยกำหนดให้นำดินสอพองไปผ่านกระบวนการกรอง การใช้ความร้อน และการอบแห้ง เพื่อฆ่าเชื้อโรค พร้อมทั้งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท มีฉลากระบุรายละเอียดอย่างถูกต้อง ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีในการประชุมผู้ประกอบการเพื่อยกมาตรฐานการผลิตแล้ว

                                   

ทั้งนี้ ในการเลือกดินสอพองมาใช้เล่นสงกรานต์ ควรเลือกที่มีฉลากกำกับว่าเหมาะกับการใช้ทาร่างกาย และซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เช่น ผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) หากไม่มั่นใจในความปลอดภัย อาจนำดินสอพองที่ซื้อมานำมาผ่านความร้อน โดยวิธีสะตุดิน คือ ใส่ดินสอพองในหม้อดิน ปิดฝา แล้วนำไปตั้งไฟให้ดินสอพองสุก หรือนำดินสอพองมาละลายน้ำสะอาดแล้วกรอง จากนั้นนำไปต้มหรืออบแห้งก็ได้ จะทำให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น 

****************************************    5 เมษายน 2553 



   
   


View 19    05/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ