วันนี้ (2 เมษายน 2553) ที่จังหวัดนครนายก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้โอวาทแพทย์ ทันตแพทย์ ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ประจำปี 2553 จำนวน 1,749 คน เป็นแพทย์ 1,322 คน ทันตแพทย์ 427 คน และให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้มีแพทย์จบใหม่ที่ต้องจับสลากเลือกสถานที่ปฏิบัติงานจำนวน 705คน แพทย์ที่ไม่ต้องจับสลาก ได้แก่แพทย์ในโครงการแพทย์ชนบทจำนวน 387คน เพราะมาจากพื้นที่และมีสัญญาว่าจะกลับไปทำงานในพื้นที่ตามภูมิลำเนา แพทย์พี่เลี้ยง 155คน และอีกส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการในพื้นที่ที่มาเรียนต่ออีก 37คน โรงเรียนแพทย์ 77คน อีก 21คนไปปฏิบัติงานตาม กรม กอง และกระทรวงต่างๆ

ขณะนี้เรามีแพทย์จบใหม่ 1,382คน แต่มีอัตราบรรจุ 800อัตรา ที่เหลืออยู่ระหว่างขออนุมัติอัตราเพิ่มจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เชื่อมั่นว่าจะได้รับการพิจารณาจากอัตราที่ว่างอยู่ ขอให้แพทย์ ทันตแพทย์ทุกคนทำงานด้วยความมั่นใจ การหาตำแหน่งบรรจุเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแพทย์ ทันตแพทย์ ภาพรวมของแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพในประเทศไทยในปี 2552 มีจำนวน 30,681คน หากเทียบกับจำนวนแพทย์ที่ควรมีในประเทศไทยคือ 1ต่อ 1,500 จะต้องมีแพทย์ทั้งหมด 42,265คน ยังขาดอีก 11,984 คน ส่วนทันตแพทย์ มี 9,337คน หากเทียบกับจำนวนทันตแพทย์ที่ควรมีในประเทศไทยคือ 1ต่อ 3,959 จึงควรมี 17,999คน ขาดอีก 8,662คน
 เมื่อแยกเป็นรายภาค พบว่าอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรทุกภาคมีความขาดแคลนทั้งหมดยกเว้นกทม. ที่ขาดแคลนมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพทย์ 1 ต่อ 5,308ทันตแพทย์ 1 ต่อ 22,020 รองลงมาภาคเหนือแพทย์ 1ต่อ 3,279 ทันตแพทย์ 1 ต่อ 14,852 คน ภาคใต้แพทย์ 1ต่อ 3,354ทันตแพทย์ 1 ต่อ 15,918 คน  และภาคกลาง แพทย์ 1ต่อ 2,683 คน ทันตแพทย์ 1 ต่อ 13,131 คน  ส่วน กทม. แพทย์ 1 ต่อ 850ทันตแพทย์ 1 ต่อ 4,869 คน
อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมการเพื่อผลิตแพทย์และทันตแพทย์เพิ่มให้ทันต่อความต้องการ โดยปัจจุบันรับนักศึกษาแพทย์ได้ปีละ 2,300คน ตั้งเป้าอีก 6ปีคือพ.ศ.2559 แพทย์จะเพียงพอสำหรับประชากร ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1,500 ส่วนทันตแพทย์ จะเพียงพอคือ 1 ต่อ 4,000 ภายใน 10ปี คือ พ.ศ.2563 ส่วนปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไปคือเรื่องการกระจุกตัวของแพทย์ในกทม. และส่วนกลาง เช่นในวันนี้ที่มีการจับสลากก็เป็นกระจายแพทย์ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในการทำงานของแพทย์ ทันตแพทย์จบใหม่ สิ่งสำคัญที่ต้องรับทราบคือทิศทาง นโยบายรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยได้กำหนดนโยบายเบื้องต้นที่สำคัญดังนี้ 1.เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นหลัก 2.เร่งรัดการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล และคุณภาพบริการในทุกระดับ 3.สร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการควบคุมโรค 4.คุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างจริงจัง 5.สนับสนุนสมุนไพรไทยให้มีบทบาทในการบริการและมีความก้าวหน้ามากขึ้น6.สนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 7.สนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น 8.พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศให้มีความทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อประชาชนมากขึ้น 9.ผลักดันโครงการเมดิคอล ฮับ (Medical Hub) ให้รุดหน้ามากขึ้นและ10.ผลักดันและพัฒนากฎหมายให้เอื้อประโยชน์ต่อการสนับสนุนการดำเนินงานโดยเฉพาะกฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการทางการแพทย์
    ******************   2 เมษายน 2553
 
 
 
 


   
   


View 17    02/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ