รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายเร่งรัดควบคุมป้องกันปัญหาวัณโรคดื้อยา หลังผลการเฝ้าระวังระดับประเทศล่าสุดปี 2550 พบผู้ป่วยรายใหม่ดื้อยาหลายขนานร้อยละ 1.7 ที่น่าห่วงที่สุดคือผู้ป่วยตามแนวชายแดนดื้อยาร้อยละ 5-7 สูงกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลก 2 เท่าตัว จากกินยาไม่ครบ 6 เดือน ให้ทุกจังหวัดเร่งค้นหาผู้ป่วยเข้ารักษาฟรี ชี้ค่ารักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 1 ราย แพงกว่าผู้ป่วยทั่วไป 100 เท่าตัว ต้องใช้เงินถึงรายละ 2 แสนบาท   

วันนี้ (22มีนาคม 2553) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 24 มีนาคม ทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันวัณโรคโลก เพื่อให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาด รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากวัณโรค โดยเฉพาะวัณโรคดื้อยาหลายชนิด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศรวมทั้งไทย ในปีนี้กำหนดคำขวัญการรณรงค์ว่า “เร่งรัด สร้างสรรค์ ร่วมใจ ขจัดภัยวัณโรค” (ON THE MOVE AGAINST TUBERCULOSIS : Innovate to accelerate action)รายงานองค์การอนามัยโลกพบ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกติดเชื้อวัณโรคแล้ว ขณะนี้มีผู้ป่วยประมาณ 14 ล้านคน โดย 7 ล้านคนเป็นกลุ่มที่กำลังแพร่เชื้อ แต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น  9  ล้านกว่าคน ร้อยละ 95 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เสียชีวิตประมาณ 1.65 ล้านคน

                                   

 นางพรรณสิริ กล่าวว่า วัณโรคที่เป็นปัญหาของคนไทยขณะนี้คือวัณโรคปอด พบได้ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด วัณโรคชนิดนี้ติดต่อกันได้จากการไอจาม ในปี 2552 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 59,516 ราย เสียชีวิต2,300ราย สาเหตุหลักที่วัณโรคกลับมาแพร่ระบาดในไทยมาจาก 3 สาเหตุ คือการระบาดของโรคเอดส์ แรงงานต่างชาติ และปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน จากการคำนวณทางระบาดวิทยาคาดว่า ไทยน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทปีละ 90,000 ราย เป็นผู้ที่มีเชื้อในเสมหะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นประมาณ 40,000 ราย   และเสียชีวิตปีละ 13,000 ราย โดยมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 76 ที่กินยารักษาครบตามสูตรคือ 6 เดือน ซึ่งต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือร้อยละ 85 

                                 

ปัญหาใหญ่จากการที่ผู้ป่วยกินยาไม่ครบ ที่น่ากังวลที่สุดคือการดื้อยาหลายขนาน ทำให้การควบคุมโรคยุ่งยากมากขึ้นเพราะต้องใช้งบประมาณสูง จากรายงานการเฝ้าระวังการดื้อยาวัณโรคระดับประเทศของสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ล่าสุดในปี 2550 พบผู้ป่วยรายใหม่ทั่วไปดื้อยาหลายขนานร้อยละ 1.7 โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ตามแนวชายแดนหรืออยู่ในเขตเมืองใหญ่ ดื้อยาสูงถึงร้อยละ 5-7 สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือไม่เกินร้อยละ 3 หรือสูงประมาณ 2 เท่าตัว ส่วนผู้ป่วยที่เคยรับยามาก่อน ยิ่งพบดื้อยาสูงกว่าผู้ป่วยรายใหม่หลายเท่าตัว ต้นเหตุหลักที่ทำให้เชื้อดื้อยาคือผู้ป่วยกินยาไม่ครบตามสูตร จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน สื่อมวลชนทุกคน ช่วยกันเผยแพร่ให้ผู้ที่เป็นวัณโรครีบเข้ารักษาตัว โดยกระทรวงสาธารณสุขให้การรักษาฟรีทั่วประเทศ และต้องกินยาให้ครบ 6 เดือน จะมีโอกาสหายขาด     

                                 

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้อัตราครอบคลุมการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคของไทยอยู่ที่ร้อยละ 73-75 ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ตกค้างยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษาอาจเนื่องจากอาการไม่รุนแรง ทำให้เชื้อมีโอกาสแพร่ให้ผู้อื่นได้ตลอดเวลา ซึ่งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคีเครือข่าย จะช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้เข้าสู่ระบบการรักษาช่วยตัดวงจรการแพร่เชื้อได้เร็ว การรักษาผู้ป่วยวัณโรคทั่วไป 1 ราย เสียค่าใช้จ่าย 2,000 บาท แต่หากเป็นวัณโรคชนิดดื้อยา ค่ารักษาจะแพงขึ้น 100 เท่าตัว ตกรายละ 200,000 บาท 

ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาวัณโรค ในปี 2553 นี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้ารักษาผู้ป่วยวัณโรคให้หายขาดให้ได้ร้อยละ 85  โดยให้สถานพยาบาลทุกแห่งเร่งดำเนินการ 5 มาตรการดังนี้ 1.ให้กำหนดผู้ประสานงานวัณโรคของโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยวัณโรคโดยตรง 2.วินิจฉัยโรคและรักษาให้เร็ว รวมทั้งให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคและติดเชื้อเอชไอวีด้วยให้เร็วขึ้น 3.ให้ใช้วิธีการกินยาแบบมีพี่เลี้ยงติดตามทุกวัน 4.กระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการควบคุมวัณโรค และ5.ให้การรักษาแรงงานต่างชาติที่เป็นวัณโรคให้มีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณ 10-12 ล้านบาทให้จังหวัดที่แรงงานต่างชาติ มั่นใจว่าหากสามารถดำเนินการตามแผน ไทยจะมีโอกาสหลุดจาก 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง

ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าอาการสำคัญของวัณโรคได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ เจ็บหน้าอก ไอมีเลือด และเรื้อรังเกินกว่า 2 อาทิตย์ ซึ่งประชาชนมักเข้าใจผิดว่าป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา ซื้อยามากินเอง และอาการไม่รุนแรง ยังทำงานได้ จึงไม่ได้ไปพบแพทย์ ดังนั้น หากประชาชนหรือครอบครัวใดที่พบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านเพื่อรับการรักษาฟรี 

       ******************************** 22 มีนาคม 2553
 
 


   
   


View 11    22/03/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ