นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินระดับชาติประจำวันนี้ (17มีนาคม 2553)ว่า จากการติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยและได้รับบาดเจ็บของวันที่ 16 มีนาคม 2553 ศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินพบว่ามีผู้ป่วยทั้งหมด 16 รายไปรับการรักษาที่วชิรพยาบาลและโรงพยาบาลกลาง ในจำนวนนี้ได้รับบาดเจ็บ 3 รายเป็นชายทั้งหมด โดยหกล้มปากแตก 2 ราย ถูกทำร้ายร่างกาย 1 ราย อีก 13 ราย ป่วยด้วยอาการท้องเสีย ปวดท้อง ชักเกร็ง เป็นไข้ หน้ามืดเป็นลม นอนรักษาตัวที่วชิรพยาบาล 1 รายขณะนี้กลับบ้านแล้ว

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน กรณีที่ผู้ชุมนุมจะนำเลือดไปเทที่บ้านนายกรัฐมนตรีในวันนี้นั้น ได้เตรียมการรพ.รองรับไว้ทั้งรพ.รัฐและเอกชน รพ.รัฐบาล ได้แก่ รพ.พร้อมมิตร และรพ.ตำรวจ ส่วนรพ.เอกชนได้ประสานงานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เตรียมการรพ.ในพื้นที่ เช่นรพ.คามิลเลี่ยน รพ.สมิติเวช รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.กรุงเทพ รพ.เพชรเวช รพ.สุขุมวิท รพ.กล้วยน้ำไท เป็นต้น โดยทีมวชิรพยาบาลจะดูแลการล้างฆ่าเชื้อโรคตามพื้นที่เทเลือด เช่นเดียวกับที่ทำเนียบและหน้าพรรคประชาธิปัตย์ส่วนกรณีที่เกิดในต่างจังหวัด ได้มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรับผิดชอบดำเนินการ
                         
สำหรับขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ ได้ประเมินสถานการณ์ พบว่าแนวโน้มผู้ชุมนุมลดลง แต่ขณะเดียวกันมีความพยายามเสริมกำลังเข้ามาจากต่างจังหวัด ที่น่าห่วงขณะนี้คือการก่อวินาศกรรม ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ จะต้องเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง คงจุดบัญชาการการแพทย์ฉุกเฉินถาวร 4 จุดไว้ คือ1.รพ.สงฆ์ 2.รพ.มิชชั่น ร่วมกับสภากาชาดไทยและมูลนิธิร่วมกตัญญู 3.วชิรพยาบาล และ4.รพ.กลาง โดยเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เลือด ออกซิเจน ในระดับสูงสุดเช่นเดิม และยังได้เตรียมความพร้อมระบบวิทยุมือถือสำรองไว้ หากระบบสื่อสารช่องทางปกติใช้การไม่ได้ และตรวจสอบความพร้อมเป็นระยะๆ ทุกวัน
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับการที่ผู้ชุมนุมนำเลือดมาเทราดตามจุดต่างๆ นั้น ในประเด็นทางการเมือง เท่าที่ติดตามสถานการณ์ที่ผ่านมาในช่วงเริ่มเทเลือดวานนี้ คิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และไม่สนับสนุนกับวิธีการเช่นนี้ เพราะเป็นสัญลักษณ์นำไปสู่การใช้ความรุนแรง สังคมไทยไม่อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น ดังนั้นหากคิดนำวิธีการนี้ไปขยายผลต่างจังหวัดควรคิดให้ดีว่าควรทำต่อหรือไม่ คุ้มค่ากับผลทางการเมืองที่ได้รับกลับมาหรือไม่ ส่วนประเด็นด้านการแพทย์ เป็นครั้งแรกที่วงการแพทย์หลายหน่วยงานพูดชัดเจนตรงกันว่า ไม่สนับสนุนวิธีการนี้ ทั้งสภากาดไทย แพทยสภา สภาการพยาบาล หรือแม้แต่แพทย์ที่สังกัดองค์กรอื่นๆ จึงอยากฝากให้ใช้วิธีการอื่นที่ยอมรับได้ ไม่นำไปสู่ความรุนแรง น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด 
                          
“กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยและเตือนผู้ชุมนุมในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย ให้ดูแลสุขภาพ ซึ่งวันนี้มีฝนตกขอให้ผู้ชุมนุมระวังเป็นไข้หวัด หากป่วยเป็นไข้ให้รีบพบแพทย์” นายจุรินทร์กล่าว  
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มชุมนุมนำเลือดมาสาดถูกประชาชนนั้น สามารถร้องเรียนได้ 2 หน่วยงานคือกทม. เนื่องจากเป็นเหตุที่มีผลเสียทางสุขภาพ และหน่วยงานที่ 2 คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ เช่น แพทยสภา และสภาการพยาบาล
************ 17  มีนาคม  2553 


   
   


View 12    17/03/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ