กำชับศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฯ ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานีและนครราชสีมา เตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินจากการชุมนุม ด้านแพทย์ใหญ่ชี้ การเจาะเลือดที่คอ เสี่ยงอันตราย เตือนสวมถุงมือก่อนเก็บขยะติดเชื้อ ราดน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนนำไปฝังหรือเผา

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินแห่งชาติประจำวันนี้(16 มีนาคม 2553) ว่า ได้รับแจ้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเจ็บป่วยรวม 20 ราย โดยเป็นผู้บาดเจ็บ 5 ราย ประกอบด้วยทหาร 2 นาย  อุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน 2 ราย ทะเลาะวิวาท 1 ราย  และผู้ป่วย 15 ราย ซึ่งเกิดจากอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย 8 ราย  ป่วยทั่วไป 7 ราย
          ในวันนี้ได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ทั้ง 79 ศูนย์ เตรียมพร้อม และให้เตรียมพร้อมเป็นกรณีพิเศษ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมา เนื่องจากปรากฏเป็นข่าวเบื้องต้นว่าจะมีการตั้งเวทีชุมนุมตั้งแต่คืนวานนี้(15 มีนาคม 2553) จึงสั่งการให้มีการเฝ้าระวังพร้อมให้มีการปฏิบัติการหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ในส่วนของกรุงเทพมหานคร เน้น 4 จุดตามที่เป็นข่าว และเพิ่มหน่วยบริการอีก 2 จุด คือที่บริเวณลานพระรูปทรงม้า และนางเลิ้ง โดยมอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบ  มีรถพยาบาล 2 คันเพื่อช่วยปฐมพยาบาล รักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ
          “เป็นห่วงไข้หวัดใหญ่ 2009 เนื่องจากมีผู้มาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก หากมีผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 เชื้อจะมีโอกาสแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย และอาจจะระบาดเป็นวงกว้าง ดังนั้นหากผู้ร่วมชุมนุมป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน นอกจากนี้ยังเป็นห่วงโรคที่มากับอากาศที่ร้อน ทั้งโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร โรคอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย เป็นลมเนื่องจากอากาศร้อน  จึงขอให้ระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร น้ำดื่มต้องสะอาด  รวมทั้งการขับถ่าย” นายจุรินทร์ กล่าว
                                    

 

          นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าผู้ชุมนุมจะเจาะเลือดและนำไปราดที่พื้น ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รักษาการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข ได้มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประสานกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร นำน้ำยาฆ่าเชื้อไปทำลายเชื้อและทำความสะอาด รวมทั้งการทำลายเข็ม สำลี ขยะติดเชื้อ ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ดำเนินการตามความเหมาะสม ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข
          ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงเรื่องการเจาะเลือด ขอให้ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญและตามมาตรฐานการแพทย์ เพื่อป้องกันอันตรายและผลข้างเคียงที่จะตามมาทั้งจากการติดเชื้อ และสภาพร่างกายหลังเจาะเลือด กรณีที่มีข่าวว่าแกนนำบางคนเจาะเลือดที่บริเวณคอนั้น ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะเส้นเลือดบริเวณคอมีทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ และหากเจาะเส้นเลือดแดง จะอันตรายมากเนื่องจากเส้นเลือดแดงมีแรงดันเลือดมาก ทั้งนี้ในทางการแพทย์การที่จะเจาะเลือดที่คอ ส่วนใหญ่ทำในผู้ป่วยที่ต้องให้ยา หรือตรวจสมอง หรือเป็นการให้น้ำเกลือกรณีที่เส้นเลือดอื่นไม่สามารถใช้ได้
          “สำหรับการกำจัดขยะทั้งที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ขอให้ผู้ที่เก็บขยะใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรสวมถุงมือ หากเป็นขยะติดเชื้อ อาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราดก่อนเก็บ ก่อนนำไปฝังหรือเผาตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับชนิดของขยะ” นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าว                  *********     16 มีนาคม 2553


   
   


View 12       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ