วันนี้ (15 มีนาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในวันนี้ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้สั่งการให้ยกระดับการปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขขึ้นเป็นระดับสูงสุด คือระดับ 3 เพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับความปลอดภัยเป็นขั้นสูงสุดของศอรส. โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ ประสานงานกับศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ 79 ศูนย์ รวมทั้งศูนย์เอราวัณของกทม. ดึงทุกภาคส่วน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐ เอกชนและมูลนิธิต่างๆมาร่วมดำเนินการ หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงและมีผู้บาดเจ็บ

 

 สำหรับการเตรียมการรองรับผู้ชุมนุมที่เคลื่อนตัวไปที่ราบ 11 ถนนพหลโยธิน ได้เตรียมศูนย์สั่งการเพื่อปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขไว้ 4 จุด จุดแรกทางตอนเหนือ ได้มอบหมายให้รพ.ภูมิพลเป็นศูนย์กลาง มีศูนย์นเรนทรเป็นผู้สั่งการ มีโรงพยาบาลเครือข่าย 5 แห่ง ได้แก่ รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.สระบุรี รพ.ปทุมธานี รพ.นนทบุรี และรพ.นครนายก ทั้ง 5 รพ. มีหน่วยกู้ชีพระดับสูงครบชุด ทั้งแพทย์พยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ จุดที่ 2 ด้านทิศตะวันออก มีรพ.นพรัตนราชธานีเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการ มีเครือข่ายรพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ทุกแห่ง รพ.ชลบุรี รพ.ฉะเชิงเทรา รพ.สมุทรปราการ และรพ.เอกชน 2 แห่ง จุดที่ 3 ทิศใต้ มีรพ.วิภาวดีรังสิตเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการ ได้รับความร่วมมือจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกับสภากาชาดไทย รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช มูลนิธิร่วมกตัญญู และรพ.เมโย จุดที่ 4 ด้านทิศตะวันตก มีศูนย์กลางปฏิบัติการที่โรงเรียนวัดหลักสี่ มีศูนย์เอราวัณของกทม. ร่วมกับมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง และรพ.เอกชน 2 แห่งและรพ.ในสังกัดกทม.เป็นเครือข่าย
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้โรงพยาบาลที่อยู่ในเส้นทางการเดินทางของผู้ชุมนุมเตรียมความพร้อมทุกด้าน โดยมอบหมายให้ศูนย์เอราวัณและมูลนิธิปอเต็กตึ๊งเป็นผู้รับผิดชอบ มีทั้งหมด 47 โรงพยาบาล เป็นรพ.ในเขตกทม. 21 แห่ง ปริมณฑล 26 แห่ง โดยสำรองเตียงทั้งหมด 1,651 เตียง สำรองออกซิเจนไว้เต็มอัตรา และสำรองเลือดไว้ทุกโรงพยาบาลรวมสภากาชาดไทยทั้งหมด 5,366 ยูนิต รถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมหน่วยกู้ชีพ 88 คันเรือกู้ชีพฉุกเฉิน 42 ลำ รวมทั้งแพทย์พยาบาลเต็มอัตรา ขณะเดียวกันได้ให้ประสานหน่วยงานอื่น ๆ ทั่วประเทศให้เตรียมการรองรับหากมีผู้ชุมนุมในต่างจังหวัด
“หากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น ขอความร่วมมือผู้ชุมนุม โปรดอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มแพทย์ พยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพ และมูลนิธิต่าง ๆ ที่จะเข้าไปดูแลรักษาผู้บาดเจ็บด้วย ซึ่งทุกคนจะแต่งชุดขาว มีตราสัญลักษณ์แสดงต้นสังกัดชัดเจน ขอย้ำประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ระมัดระวังโรคหน้าร้อน โดยเฉพาะโรคทางเดินอาหาร ระมัดระวังความสะอาดของน้ำและอาหาร และโรคที่เกิดจากอากาศร้อนจัด อยู่กลางแดดจัด เช่น ลมแดด ตะคริวแดด จากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายทางเหงื่อ อาจช็อคและถึงแก่ชีวิตได้ ขอให้ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ สำหรับผู้ที่มีความเครียด สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ยังไม่มีเหตุฉุกเฉินมีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด มีเพียงเหตุชกต่อย 2 รายในวันที่เริ่มเดินทางมาชุมนุมวันแรกเท่านั้น
*******************************     15 มีนาคม 2553


   
   


View 16       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ