บ่ายวันนี้ (9 มีนาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอเตือนประชาชนทั่วไป เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาสุขภาพในช่วงหน้าร้อน ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นในหน้าร้อนจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 โรคที่เกิดจากอาหารและน้ำ มี 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ และอหิวาตกโรค ซึ่งข้อแนะนำก็คือให้ถือปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเคยแนะนำไป คือ กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เก็บค้างไว้นานหลายชั่วโมงโดยไม่นำมาอุ่นให้ร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าค่ายของนักเรียนช่วงปิดเทอม การทำกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมาก ๆ แล้วรับประทานอาหารกล่องที่ทำทิ้งไว้นานๆ หากมีเชื้อโรคอยู่อาจเกิดปัญหาได้ รวมทั้งขอให้ดื่มน้ำสะอาดด้วย กลุ่มที่ 2 คือโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งข้อมูลในปี 2552 พบผู้เสียชีวิต 23 คน และในปี 2553 ช่วง 2 เดือนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 7 คน ซึ่งตรวจพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากสุนัขที่มีเจ้าของและไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกัด ดังนั้นหากถูกสุนัขหรือแมว กัดข่วน ทำให้เกิดบาดแผล จะต้องไปรับการฉีดวัคซีนทันที ซึ่งบริการที่โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ และกลุ่มที่ 3 คือโรคที่เกิดจากแดด หรือความร้อน ซึ่งช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศร้อนจัดมาก มี 3 โรค คือตะคริวแดด เพลียแดด และลมแดด ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากอากาศร้อนจัด เสียเหงื่อมาก ทำให้เลือดข้น ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ ในที่สุดจึงเป็นลม ช็อค และเสียชีวิตได้ จึงขอให้หลีกเลี่ยงการไปอยู่กลางแดดร้อนจัดหรืออยู่ในที่ร้อนจัด และให้ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ จะช่วยแก้ปัญหาได้ ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคลมแดดในทางการแพทย์เรียกว่า ฮีทสโตรก (Heat Stroke) เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาในภาวะที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน โรคนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง จัดเป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70 เปอร์เซ็นต์ ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา มีรายงานประชาชนเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ปีละประมาณ 371 คน ส่วนในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานใครเสียชีวิต อาการสำคัญของโรคลมแดด ได้แก่ ตัวร้อนจัด เพ้อหรือหมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง ช็อค ผิวหนังแห้งและร้อน ระดับความรู้สึกตัวจะลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย เอะอะ ก้าวร้าว หมดสติ เกร็ง ชัก โดยกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากที่ได้รับความร้อน จะมีการปรับตัว โดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ“สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่เป็น จะกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆไป ซึ่งจะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย โดยหากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที จะทำให้เสียชีวิตได้” นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า ในการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นโรคฮีทสโตรก ให้นำผู้ที่มีอาการเข้าในที่ร่ม ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่สมอง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดามากๆ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวอีกว่า โดยทั่วไปอาการผิดปกติที่เกิดจากความร้อน มีหลายระดับ ระดับที่ไม่เป็นอันตราย ที่รู้จักกันทั่วๆไปคือ เป็นลม จะมีอาการมืดหน้า เป็นตะคริว หมดแรง อาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนด้วย และระดับที่มีอันตรายที่สุดคือ ฮีทสโตรก เป็นภาวะวิกฤติของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอันตรายจากอากาศร้อนจัด ได้แก่ การขาดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศร้อน ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคฮีทสโตรกได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องกินยาควบคุมความดัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลขับสารโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ในร่างกายได้เร็วกว่าผู้อื่น นอกจากนี้ ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่อดนอน ก็เสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ เนื่องจากร่างกายจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ และผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ในขณะที่มีสภาพอากาศร้อน ร่างกายจะมีโอกาสสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งเป็นผลมาจากการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย สำหรับกรณีของคนอ้วน ซึ่งจะมีไขมันที่ผิวหนังจำนวนมาก ไขมันจะทำหน้าที่คล้ายเป็นฉนวนกันความร้อน ทำให้คนอ้วนสามารถเก็บความร้อนได้ดี แต่การระบายความร้อนออกจากร่างกาย จะทำได้น้อยกว่าคนทั่วๆไป นอกจากนี้บริเวณผิวหนังที่มีไขมันมาก มักมีต่อมเหงื่อน้อยลงด้วย คนอ้วนจึงมีโอกาสเกิดโรคฮีทสโตรกได้ง่าย วิธีการป้องกันอันตรายในช่วงที่มีอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะต้องต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยปกติควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน ผู้ที่ทำงานในที่ร่ม ควรดื่มอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ จะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับอากาศร้อนได้ เนื่องจากน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งปกติจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ในการสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ ประชาชนสามารถสังเกตง่ายๆจากสีของน้ำปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะต้องดื่มน้ำให้มากๆ สำหรับการออกกำลังกายในฤดูร้อน สามารถกระทำได้ โดยค่อยๆ ออกกำลังกาย และเพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกายขึ้นเรื่อยๆ ************************************ 9 มีนาคม 2553



   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ