วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2553) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง การสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชนที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิ และอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร หลังจากที่ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการ สปสช. ร่วมกันพิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่ทุรกันดาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากคนข้ามแดนไปมาและจากคนไร้สถานะที่จะระบาดเข้าสู่คนไทย
นายจุรินทร์กล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมของ สปสช. ได้เสนอความเห็นและได้ข้อสรุป โดยให้ความเห็นชอบจัดตั้งกองทุนขึ้นมา 1 กองทุน เรียกว่ากองทุนบริการสาธารณสุขสำหรับประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะ บุคคล ผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับหลักประกันสุขภาพคือบริการด้านรักษาพยาบาล มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่กลุ่มที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้การรับรองให้อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นการถาวรแล้วมีประมาณ 90,000 คน กลุ่มที่ 2 ได้แก่กลุ่มที่ครม.ผ่อนผันให้อยู่เป็นการชั่วคราวเพื่อรอพิสูจน์สถานะ ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับการรับรองสัญชาติไทย ตามขั้นตอนกระบวนการ มีอยู่ประมาณ 296,863 คน และกลุ่มที่ 3.ได้แก่กลุ่มนักเรียนที่ได้รับสิทธิเรียนฟรี ตามนโยบายรัฐบาลแต่ยังไม่ได้บริการด้านรักษาพยาบาล และเป็นกลุ่มที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติมีบัตรประจำตัวชัดเจนแล้ว 70,513 คน รวม 3 กลุ่ม 457,409 คน ใช้งบประมาณ 472 ล้านบาท เฉลี่ย 2,067.40 บาทต่อคนต่อปี
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ทุกคนจะได้รับสิทธิด้านการรักษาพยาบาลจากกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นไป ซึ่งคนทั้ง 3 กลุ่มนี้ ในอดีตเคยได้รับการดูแลด้านการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว โดยรัฐบาลไทย เช่นมีบัตรประกันผู้มีรายได้น้อย บัตรประกันสุขภาพ 500 บาท หรือมีบัตรทองแต่ถูกยกเลิกสิทธิ เมื่อปี 2547 คนทั้ง 3 กลุ่มนี้จะกระจายอยู่ทั่วประเทศ มากที่สุดตามแนวชายแดนไทย-พม่า ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้บางส่วน
ผลดีของการจัดตั้งกองทุนครั้งนี้ ประการแรก คนไทยที่อยู่บริเวณตามแนวชายแดนและกระจายอยู่ทั่วประเทศอย่างน้อย 15 จังหวัด จะไม่ถูกเบียดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลที่จัดไว้ให้เฉพาะคนไทย มาใช้รักษาคนกลุ่มนี้ ประการที่ 2 ช่วยในการป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่มาสู่คนไทย เพราะในพื้นที่ 15 จังหวัดมีโรคที่แพร่ระบาดมาสู่คนไทยทวีความรุนแรงขึ้น เช่นโรคอุจาระร่วงเฉียบพลัน มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคเอดส์และวัณโรค รวมทั้งโรคเท้าช้างซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องเข้าไปแก้ไข ประการสุดท้าย จะช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินการคลังให้กับโรงพยาบาลแนวชายแดน 15 จังหวัด 172 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลเหล่านี้ต้องจัดเงินในส่วนของโรงพยาบาลมาใช้ในการบริการคนกลุ่มนี้ โดยจะนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว มั่นใจว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ เพราะมีข้อมูลชัดเจนทั้งจำนวนคนและงบประมาณ
************************************ 25 กุมภาพันธ์ 2553
View 21
25/02/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ