นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร และพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศ 10 จังหวัด ว่า ในวันนี้ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเฉพาะที่อยู่ตามบริเวณแนวชายแดน 10 จังหวัด รวม 172 แห่ง ซึ่งข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ได้รับเงินค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลรายหัวตามจำนวนคนไทยที่มีบัตรประชาชน แต่เวลาให้บริการจริง โรงพยาบาลเหล่านั้นต้องให้บริการคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่มีบัตรประชาชนในรูปแบบที่แตกต่างจากคนไทยทั่วไป คือ คนที่รอพิสูจน์สัญชาติ คนกลุ่มนี้เคยได้รับบัตรทองมาแล้วและถูกยกเลิกในปี 2545 บางคนเคยทำบัตรประกันสุขภาพ 500 บาทในอดีตและเคยได้รับการรักษาฟรีในฐานะผู้มีรายได้น้อย ต่อมาได้ถูกยกเลิกเมื่อเปลี่ยนเป็นบัตรทองเมื่อปีพ.ศ.2544 และ 2545 จึงเป็นภาระของโรงพยาบาลชายแดน ต้องนำเงินงบประมาณที่ได้รับมาใช้รักษาคนไทยกลุ่มนี้ด้วย รวมทั้งยังมีแรงงานต่างด้าวที่ข้ามแดนเข้ามารักษา และนำเชื้อโรคโรคติดต่อเข้ามาแพร่ต่อคนไทย เช่น โรคเท้าช้าง โรคมาลาเรีย อหิวาตกโรค วัณโรคเรื้อรัง เป็นปัญหาใหญ่ในแนวชายแดนขณะนี้ ทำให้งบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับการจัดสรรเพื่อใช้รักษาคนไทยลดน้อยลง นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้จึงได้ตัดสินใจ เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดงบประมาณ550 ล้านบาท สำหรับดูแลสุขภาพคนไทยที่รอพิสูจน์สัญชาติจำนวน 4 แสน 5 หมื่นคน โดยจะนำเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในครึ่งปีถัดไป คือตั้งแต่เดือนเมษายน 2553แต่เนื่องจากเรื่องนี้ เป็นระบบประกันสุขภาพ จะต้องผ่านที่ประชุม สปสช. ซึ่งจะมีการพิจารณาในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาระบบการเงินให้กับโรงพยาบาลตามแนวชายแดน ช่วยควบคุมโรคติดต่อ ไม่ให้แพร่ระบาดในคนไทย และจะช่วยให้คนที่เคยได้บัตรทองได้รับการดูแลรักษา ********************************* 15 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 29    15/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ