สาธารณสุขเผยผลสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุล่าสุดในปี 2551-52 พบเข้าขั้นน่าห่วง เผชิญปัญหาหลัก 3 ด้าน ต้องเร่งพัฒนาระบบบริการรองรับหลายด้าน โดยเกือบครึ่งเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่รู้ตัวเพียงร้อยละ 3 เป็นโรคเบาหวานร้อยละ 16 มีผู้สูงอายุเป็นโรคข้อเสื่อมกว่า 1 ล้าน 3 แสนคน สงสัยมีภาวะสมองเสื่อม 880,000 คน ต้องการคนดูแลกว่า 265,000 คน พบในเขตชนบทมากกว่าเขตเมือง ส่วนด้านที่อยู่อาศัยพบยังมีสภาพไม่เอื้อต่อความปลอดภัย เสี่ยงต่ออันตรายหกล้มสูง วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รศ.นายแพทย์วิชัย เอกพลากร หัวหน้าโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เสวนาเรื่อง “สูงแล้วเสื่อม ผู้สูงอายุไทยจะมีความสุขได้อย่างไร” และแถลงผลสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุไทยทั่วประเทศใน 21 จังหวัด โดยการสัมภาษณ์กับตรวจสุขภาพ ครั้งล่าสุดในปี 2551-2552 กลุ่มตัวอย่าง 30,000 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นางพรรณสิริ กล่าวว่า ผลจากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะสาขาการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดลดลง ทำให้สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นเป็นลำดับ โดยประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เพราะมีจำนวนผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2548 ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้สูงอายุกว่า 7 ล้าน 3 แสนคน และคาดว่าอีก 15 ปีคือปี 2568 สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 กล่าวคือพบผู้สูงอายุได้ 1 คนในประชากรไทยทุก5 คน เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งพัฒนาระบบบริการต่างๆ รองรับอย่างเหมาะสมกับสภาวะสังคมไทย ขณะเดียวกันต้องมีระบบเตรียมความพร้อมประชาชนให้เข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากผู้สูงอายุจะต้องเผชิญกับปัญหาความเสื่อมถอยของอวัยวะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจสุขภาพคนไทยและผู้สูงอายุทุก 5 ปี เพื่อประเมินสถานการณ์สภาวะด้านสุขภาพและสิ่งที่เกี่ยวข้องที่เป็นสาเหตุ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนจัดบริการและการป้องกันที่เหมาะสม ผลการสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุครั้งที่ 4 เมื่อพ.ศ. 2551-2552 ใช้วิธีสัมภาษณ์และตรวจสุขภาพโดยตรง ดำเนินการ 3 เรื่องหลัก คือกลุ่มโรคเรื้อรัง กลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ และโรคเกี่ยวกับด้านสุขภาพจิต พบว่าผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะอ้วน อ้วนลงพุง และไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย ผลสำรวจในกลุ่มโรคเรื้อรัง พบผู้สูงอายุเกือบครึ่งมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ มีเพียงร้อยละ 3 ที่รู้ตัวว่าตัวเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ในจำนวนนี้ร้อยละ 55 ได้รับการดูแลรักษา ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2547 โดยสามารถควบคุมความดันเลือดได้ร้อยละ 28 ผู้หญิงจะควบคุมได้ดีกว่าผู้ชาย ส่วนเบาหวาน ตรวจพบผู้สูงอายุเป็นร้อยละ 16 แต่สัดส่วนการเข้ารับการรักษาสูงขึ้น แสดงว่าผู้สูงอายุตื่นตัวกับโรคนี้ สามารถเข้าถึงการบริการและการรักษาดีขึ้น ทั้งนี้ เห็นได้ว่าโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานมีแนวโน้มการดูแลและการให้บริการที่ดีขึ้น ในกลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ 6 ปัญหา ได้แก่ ต้อกระจก การได้ยิน การบดเคี้ยว ข้อเสื่อม ภาวะสมองเสื่อมและการหกล้ม ตัวเลขที่น่าตกใจมากพบว่า ผู้สูงอายุไทยเป็นโรคข้อเสื่อมค่อนข้างสูงเฉลี่ยร้อยละ 19 คาดประมาณว่าขณะนี้ผู้สูงอายุไทย กำลังเชิญโรคข้อเสื่อม ประมาณ 1 ล้าน 4 แสนกว่าคน โรคดังกล่าวจะทำให้มีอาการปวดข้อ ข้อบวมอย่างเรื้อรัง พบในผู้ชายร้อยละ 24 และผู้หญิงร้อยละ 14 ส่วนภาวะสมองเสื่อม พบผู้สูงอายุมีภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 12 หรือประมาณ 880,000 คน พบในผู้หญิงร้อยละ 15 ผู้ชายร้อยละ 9 ส่วนใหญ่พบในเขตชนบทมากกว่าในเมือง ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุอยู่คนเดียว 69,000 คน ผู้สูงอายุเหล่านี้ร้อยละ 31 หรือจำนวน 265,000 คน ต้องการคนดูแล ส่วนปัญหาสายตา พบเป็นต้อกระจกร้อยละ 21 ผู้สูงอายุหญิงเป็นมากกว่าชาย ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตเมืองเป็นมากกว่าผู้ที่อยู่ในชนบท ในด้านการบดเคี้ยว พบว่าผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงร้อยละ 53 เหลือฟันในปากน้อยกว่า 20 ซี่ โดย 1 ใน 5 ใส่ฟันปลอมมากที่สุดคือผู้สูงอายุในกทม. ต่ำที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการหกล้มมาก ทำให้บาดเจ็บเกิดอันตรายต่อชีวิต ผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 18 เคยหกล้มใน 6 เดือนที่ผ่านมา เฉลี่ยผู้สูงอายุเคยหกล้มคนละ 2 ครั้ง โดยผู้สูงอายุชายส่วนใหญ่หกล้มนอกบ้าน ผู้สูงอายุหญิงหกล้มภายในบริเวณบ้านมากกว่า สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากพื้นลื่นร้อยละ 42 รองลงมาคือ สะดุดสิ่งกีดขวางร้อยละ 35 และพื้นต่างระดับร้อยละ 25 จากการถามลักษณะบ้านที่อาศัย พบว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากยังอยู่ในบ้านที่ไม่ได้ดัดแปลงให้เหมาะ เช่น ต้องใช้บันได้ในชีวิตประจำวันร้อยละ 58 ในห้องน้ำไม่มีราวจับร้อยละ 90 และไม่มีราวจับในห้องนอนร้อยละ 96 เป็นต้น สำหรับโรคเกี่ยวกับด้านสุขภาพจิต พบผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้าเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 5 พบผู้หญิงร้อยละ 7 ผู้ชายร้อยละ 3 และพบมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการดูแลผู้สูงอายุ แนวโน้มผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้นทุกปี ข้อมูลจากสำมะโนประชากรตั้งแต่ปี 2513 ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีร้อยละ 4 แต่ในปี 2547 พบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยวตามลำพังเพิ่มเป็นร้อยละ 7 หรือประมาณ เกือบ 5 แสคน ************************************** 15 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 21    15/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ