เช้าวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2553)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย นายกสมาคมตลาดสดไทยและคณะ รณรงค์อาหารปลอดภัยช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน กทม. ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานเป็นตลาดสดน่าซื้อระดับห้าดาวของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และมอบใบประกาศเกียรติคุณพร้อมป้ายรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ จำนวน 35 แห่ง แบ่งเป็นระดับห้าดาว 17 แห่ง ที่เหลือเป็นสามดาว นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก จะประกอบพิธีเซ่นไหว้ บรรพบุรุษ โดยใช้เป็ด ไก่ เนื้อสัตว์ ขนม และผลไม้ เป็นของเซ่นไหว้ ถึงแม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะไม่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก แต่เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรุงเทพมหานคร กรมปศุสัตว์ และผู้ประกอบการตลาด ดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยไม่มีสารปนเปื้อนอันตรายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายให้ดูแลในด้านความปลอดภัยอาหารที่ผลิต นำเข้า และบริโภคภายในประเทศ ให้ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล ผลการดำเนินงาน ขณะนี้ มีสถานที่ผลิตอาหารแปรรูปผ่านมาตรฐานจีเอ็มพี ร้อยละ 96 อาหารสดปลอดภัยจากสารอันตราย 6 ชนิด ได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว สารฟอร์มาลิน สารกันรา และยาฆ่าแมลง ร้อยละ 96 ปัญหาที่ยังตรวจพบต่อเนื่อง ได้แก่การพบยาฆ่าแมลงตกค้างในผักสดมากที่สุด รองลงมา คือฟอร์มาลินในอาหารทะเล และสารกันราในผักดอง นายจุรินทร์กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบกิจการตลาดสด ให้ล้างตลาดและฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนตามแผงจำหน่ายอาหาร เขียง และทางเดินในตลาดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนผู้จำหน่ายอาหารทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ และอาหารปรุงสุก ต้องเลือกสินค้ามาจำหน่ายจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะร้านค้าที่จำหน่ายเป็ด ไก่ โดยคุมเข้มเป็นพิเศษในการเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน มีความสด ใหม่ สีไม่คล้ำ ไม่มีจ้ำเลือด ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาชำแหละ เพื่อป้องกันไข้หวัดนก “สำหรับตลาดสด ซึ่งทั่วประเทศมีทั้งหมด 1,536 แห่ง กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่าต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 3 ด้าน เพื่อรับรองมาตรฐานเป็นตลาดสดน่าซื้อ ได้แก่ 1.ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อย 40 ข้อ เช่น สถานที่โครงสร้างตลาด ความสะอาด การระบายอากาศ การจัดแผง ทางเดินไม่มีน้ำขัง 2. ความปลอดภัยอาหาร อาหารที่จำหน่ายต้องปราศจากสารปนเปื้อน 6 ชนิด ได้แก่สารกันรา ยาฆ่าแมลง สารเร่งเนื้อแดง ฟอร์มาลิน สารฟอกขาว และสารบอแร็กซ์ 3.เกณฑ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่นมีราคาสมเหตุผล ตราชั่งได้มาตรฐาน มีจุดตรวจสารปนเปื้อน ขณะนี้ทั่วประเทศมีตลาดสดผ่านเกณฑ์แล้วร้อยละ 77 ที่น่าห่วงคือตลาดสดในเขตกทม.ที่มี 150 แห่ง แต่ผ่านเกณฑ์ 35 แห่ง จะได้เร่งรัดตลาดที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ ให้ได้มาตรฐานทั้งหมด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย” นายจุรินทร์กล่าว สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการให้ความรู้ ด้านความปลอดภัยอาหาร การเลือกซื้อสัตว์ปีก การป้องกันโรคไข้หวัดนก การตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารด้วยชุดทดสอบ รถตรวจสอบอาหารปลอดภัยในตลาดเคลื่อนที่ สาธิตแผงจำหน่ายสัตว์ปีกปลอดภัย แผงจำหน่ายสัตว์ปีกปรุงสุกถูกสุขลักษณะ และการล้างแผงจำหน่ายสัตว์ปีกที่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น *************** 11 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 9    11/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ