กระทรวงสาธารณสุข สะกิดพ่อแม่ ทันภัยออนไลน์ในวันวาเลนไทน์ หลังผลสำรวจพบวัยรุ่น 1ใน 2 เสี่ยงมีเพศสัมพันธ์กับแฟนในวันวาเลนไทน์ เป็นชายมากกว่าหญิง 2 เท่าตัว ส่วนในกลุ่มพ่อแม่ พบว่า 1 ใน 4 มีความเข้าใจไอทีน้อย แต่นิยมซื้อมือถือ คอมพิวเตอร์ให้ลูก โดยร้อยละ 66 ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบการรับข้อมูลทางไอทีของลูกหลาน พร้อมเปิดบริการ “ห้องครองใจ” เป็นช่องทางใหม่บริการปรึกษาแก่ครอบครัว วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2553) ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ถ.พระราม 6 กรุงเทพฯ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต นางสาวพุ่มแพทิพย์ เอี่ยมโสภา ผู้บริหารบริษัททีโอทีจำกัด (มหาชน) และนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ฉลาดรักยกกำลังสาม รู้ใจ ไหวทัน ป้องกันได้” เพื่อป้องกันสถานการณ์ความเสี่ยงของวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์ นางพรรณสิริ กล่าวว่า วันวาเลนไทน์ปีนี้ ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตจัดทำโครงการฉลาดยกรักกำลังสาม รู้ใจ ไหวทัน ป้องกันได้ เพื่อกระตุ้นให้วัยรุ่น ครอบครัว และสังคม มีความไหวทันต่อสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆที่อาจนำไปสู่ภัยทางเพศ และให้ครอบครัวมีแนวทางป้องกันความเสี่ยงทางเพศในวัยรุ่นในเทศกาลวัน วาเลนไทน์ โดยรู้ใจหมายถึง การรู้ใจตนเองจากการทบทวนอารมณ์ ความคิดของตนเองที่อาจมีอิทธิพลต่อการเกิดความเสี่ยงทางเพศ ไหวทันหมายถึง การไหวทันต่อสถานการณ์เสี่ยง ไหวทันต่ออิทธิพลของสื่อไอที และรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของผู้อื่น ป้องกันได้หมายถึง การพัฒนาวัยรุ่นให้มีทักษะชีวิต ในการปฏิเสธและป้องกันตนเองจากภัยทางเพศ รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพครอบครัวให้ป้องกันเยาวชนจากภัยทางเพศได้ ในปีนี้ ได้ให้กรมสุขภาพจิตเปิดบริการให้คำปรึกษาครอบครัว ซึ่งทั่วประเทศมีกว่า 20 ล้านครอบครัว ในด้านการเลี้ยงดูลูกยุคไอที รวมทั้งการปรึกษาปัญหาครอบครัว นำร่องที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม.เป็นแห่งแรก และจะขยายผลไปทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ครอบครัวมีทักษะให้คำปรึกษาการเลี้ยงดูลูกให้มีความไหวทันต่อสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ อาจนำไปสู่ภัยทางเพศ และมีแนวทางป้องกันความเสี่ยงทางเพศในวัยรุ่น นางพรรณสิริกล่าวต่อว่า ขณะนี้วัยรุ่นไทยซึ่งมีประมาณ 16 ล้านคนทั่วประเทศ มีความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะทางเพศ เนื่องจากมีปัจจัยมาจากปัญหาสังคมอื่นๆอาทิ การลุ่มหลงกระแสวัตถุนิยม อิทธิพลของสื่อออนไลน์ ซึ่งสื่อออนไลน์ในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นและเยาวชนสูงมาก เครื่องมือที่ใช้มากที่สุดคือมือถือ ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2551 พบประชาชนที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ร้อยละ 51 ใช้โทรศัพท์มือถือ มากที่สุดในกทม.ใช้ร้อยละ 73 ซึ่งโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือที่ติดตัว 24 ชั่วโมง มีลูกเล่นมากมาย ทั้งส่งข้อความ ส่งรูป เป็นเสมือนดาบสองคม หากรู้จักใช้ให้ถูกทาง ก็จะสร้างความรู้ สร้างความใกล้ชิดทางจิตใจได้ แต่หากใช้โดยขาดความระมัดระวังหรือเหมาะสมอาจนำภัยมาสู่ตนเอง และในฝั่งของพ่อแม่ผู้ปกครองวัยรุ่น ขณะนี้สถานการณ์น่าห่วงเนื่องจากเผชิญภัยวิกฤติหลายประการ นอกจากมีอัตราการหย่าร้างในครอบครัวสูงขึ้นจากอัตราส่วน 5 ต่อ 1 ในปี 2542 เป็นอัตราส่วน 3 ต่อ 1 แล้ว ยังต้องเผชิญกับการเลี้ยงดูลูกในยุคไอทีด้วย ทางด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้สำรวจ “วัยรุ่นไทย : สื่อรักวาเลนไทน์ 2010 ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งได้เก็บข้อมูลวัยรุ่นระดับมัธยมต้นถึงมหาวิทยาลัย จำนวน 1,320 คน และพ่อแม่/ ผู้ปกครองที่มีลูกกำลังเรียนในมัธยมต้นและมัธยมปลาย จำนวน 583 คน ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2553 – 1 กุมภาพันธ์ 2553 ผลการสำรวจพบว่า วัยรุ่น 1ใน 2 หรือร้อยละ 47 มีความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์กับแฟนในวันวาเลนไทน์ หากแฟนขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยกลุ่มเสี่ยงเป็นชายมากกว่าหญิง 2 เท่าตัว ส่วนในกลุ่มของพ่อแม่/ผู้ปกครอง พบว่า 1 ใน 4 คน หรือร้อยละ29 มีความรู้ความเข้าในการใช้ไอทีน้อยถึงน้อยที่สุด แต่ก็นิยมซื้อไอทีให้ลูกหลาน โดยซื้อโทรศัพท์มือถือ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 89 อันดับสอง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ร้อยละ 32 และอันดับสาม เครื่องเล่นวิดีโอเกม ร้อยละ 34 แต่ปัญหาที่พบคือ พ่อแม่ส่วนใหญ่ 2 ใน 3 คน หรือร้อยละ 66 ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบการรับข้อมูลในไอทีของลูกหลาน และร้อยละ 44 ไม่มีการควบคุมการใช้สื่อไอทีของลูกหลาน ซึ่งมีผลให้พ่อแม่/ผู้ปกครองร้อยละ 67 มีความกังวลต่อการเข้าถึงเนื้อหาทางเพศของลูกหลาน พ่อแม่/ผู้ปกครองร้อยละ 73 มองว่าวัยรุ่นไทยมีการแสดงออกในวันวาเลนไทน์ไม่เหมาะสม และร้อยละ 48 ห่วงวัยรุ่นยังมีความเสี่ยงทางเพศในเทศกาลวาเลนไทน์ จากการเห็นภาพโป๊เปลือย นายแพทย์ชาตรีกล่าวต่อว่า ผลการสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่าสังคมไหวทันและมีแนวทางการป้องกันสถานการณ์ความเสี่ยงของวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์ โดยการสร้างพลังแก่ครอบครัวให้ไหวทันและป้องกันภัยทางเพศแก่ลูกได้ กรมสุขภาพจิตจึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์โดยร่วมมือกับบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ให้วัยรุ่นส่งข้อความสั้นหรือเอสเอ็มเอส ที่สร้างสรรค์ อาทิ “ไม่เสียเรียน ไม่เสียใจ รักปลอดภัย จะรักกับใครแม่ไม่ว่า” ซึ่งได้รับการโหวตสูงสุด รองลงมาคือ “2 ชีวิต 1 หัวใจ ช่วยสังคมไทยให้เจริญ” จัดทำองค์เอกสารความรู้เผยแพร่ทางเว็บไซด์www.icamtalk.com และเปิดห้องครองใจ ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ โดยมีทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ให้บริการปรึกษาครอบครัว เป็นช่องทางบริการที่เข้าถึงได้ง่าย ป้องกันปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ทางด้านนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผอ. สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ผลการให้บริการของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า ผู้รับบริการกว่าร้อยละ 90 ได้รับบริการปรึกษาครอบครัว โดยร้อยละ 60 เป็นครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น และรับบริการเฉลี่ยครอบครัวละ 1-2 ครั้ง ปัญหา 5 อันดับแรกที่พบมากได้แก่ 1. พ่อแม่ขาดทักษะดูแลลูก 2. มีความขัดแย้งกับลูกเนื่องจากลูกมีปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์ 3. การปรับตัวของลูก 4. พ่อแม่ขัดแย้งกันในการเลี้ยงดูลูก และ5. พ่อแม่ขัดแย้งกัน ขาดความเข้าใจกันหากครอบครัวเริ่มรู้สึกมีความยุ่งยากในการเลี้ยงลูกวัยรุ่น สามารถมารับบริการได้แต่เนิ่นๆไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา การรณรงค์ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจากโครงการทูบีนัมเบอร์วัน ในพระอุปถัมป์ของทูลกระหม่อม ฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯซึ่งสามารถขยายผลไปถึงสมาชิกชมรมฯได้กว่า 30 ล้านคน ร่วมกับ บริษัททีโอที จำกัด มหาชน บริษัทอสมท.จำกัด และคณะนางสาวไทย ประจำปี 2552 อีกทั้งผู้มีชื่อเสียง ได้แก่ อาจารย์แม่ (รศ.สุนีย์) เวียร์ แพนเค้ก โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ และคุณซิโก้ เกียรติศักดิ์ ได้ให้เกียรติเป็นแบบอย่างการสื่อข้อความรักที่สร้างสรรค์ ******************************** 11 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 17    11/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ