รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้เองภายในประเทศ พร้อมรับมือการระบาดไข้หวัดใหญ่ คาดอาจเกิดภายใน 5 ปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาขอจีนช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์การอนามัยโลกบริจาคเงินช่วยไทยสร้างโรงงานวัคซีนขนาดเล็กแล้ว 80 ล้านบาท คาดอีก 2 ปีได้ใช้
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ ที่หลายฝ่ายคาดอาจเกิดการระบาดใหญ่ภายใน 5 ปีนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนเพื่อฉีดป้องกัน โดยไทยจะสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อใช้เองในประเทศ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เดินทางไปจีนพร้อมด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อเจรจาขอให้โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของจีนซึ่งมีหลายแห่ง ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ การเจรจาเบื้องต้นโรงงานยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ แต่จะต้องขออนุมัติจากผู้บริหารระดับสูงคือรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านสาธารณสุขและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องตัดสินใจอีกครั้ง หากภายใน 1-2 เดือนนี้ ยังไม่ได้คำตอบก็จะต้องตัดสินใจพิจารณาทางเลือกอื่นต่อไป เพื่อที่จะเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตวัคซีนได้โดยเร็ว
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ระหว่างนี้ไทยได้ประสานงานกับองค์การอนามัยโลก ในการสร้างโรงงานวัคซีนขนาดเล็ก โดยจะส่งโครงการพัฒนาให้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกจะบริจาคเงิน 2 ล้านดอลล่าล์สหรัฐ (ประมาณ 80 ล้านบาท) คาดจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี หากมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไปด้วยแล้ว ก็จะสามารถเดินเครื่องโรงงานขนาดใหญ่ได้ คาดใช้เวลาประมาณ 4 ปี ในการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของไทยครั้งนี้ จะผลิตสำหรับไว้ใช้เองในประเทศ เป็นเรื่องของความมั่นคงในประเทศกรณีเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่เพื่อการค้ากำไรแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ แต่ละประเทศจะต้องใช้วัคซีนเพื่อป้องกันประชาชนของตัวเองก่อน จะหาซื้อวัคซีนยาก ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนวัคซีน
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในเรื่องการเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ กรมควบคุมโรค ได้เตรียมความพร้อมการสร้างห้องแยกโรคติดต่อที่ได้มาตรฐานในโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายในโรงพยาบาล โดยห้องต้นแบบที่ได้มาตรฐานแห่งแรกอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ใช้งบประมาณ 1.5 ล้านบาท
แต่แบบใหม่ล่าสุดนี้ภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง ทางกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพออกแบบภายใต้พื้นฐานมาตรฐาน โดยใช้วิธีดัดแปลงห้องพิเศษที่มีอยู่แล้ว พัฒนาห้องแยกโรคติดต่อที่ได้มาตรฐาน มีการปรับระบบความดันอากาศภายในห้อง ที่จะไม่ทำให้เชื้อแพร่กระจายสู่ภายนอก รวมทั้งระบบการปรับอากาศ และอุปกรณ์การแพทย์อื่นที่จำเป็น ไม่รวมเครื่องช่วยหายใจซึ่งทุกโรงพยาบาลมีอยู่แล้ว ใช้งบปรับปรุงแห่งละประมาณ 2 แสนบาท รวมทั้งหมดประมาณ 120 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 200 กว่าแห่ง ยังต้องสร้างเพิ่มเติมอีก 600 กว่าแห่ง โดยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงอยู่แล้ว สามารถนำเงินมาใช้สร้างห้องแยกโรคติดต่อได้ทันที และจะจัดหางบประมาณมาสนับสนุนในส่วนที่ขาดแคลน โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 4 เดือนนี้ คือไม่เกินสิ้นเดือนพฤษภาคม 2550
View 11
22/01/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ