รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงตรวจพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังประกาศเป็นเขตภัยพิบัติไข้หวัดนก กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม. เฝ้าระวังอาการของคนในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยหรือตายให้ครบ 14 วัน แนะประชาชนหากมีไข้ ไอ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ อย่าซื้อยารักษาตัวเอง เพราะขณะนี้ยาต้านไวรัสไข้หวัดนก มีเฉพาะในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น และต้องกินภายใน 48 ชั่วโมงหลังป่วย บ่ายวันนี้ (22 มกราคม 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.กาญจนา กาญจนสินิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปที่โรงพยาบาลบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าเยี่ยมอาการของชายวัย 43 ปี อาชีพเลี้ยงเป็ด ซึ่งป่วยเมื่อเย็นวันที่ 19 มกราคม 2550 ภายหลังฝังทำลายเป็ด 93 ตัวที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ และนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลบางปะหัน ในห้องแยกปลอดเชื้อ จากนั้นได้ประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง สาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และอสม.ของอำเภอบางปะหัน เพื่อมอบนโยบายและซักซ้อมการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกในคนของกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นเดินทางไปที่บ้านนายสำเริง แก้วเฉลิมทอง ผู้ใหญ่บ้าน เลขที่ 49 หมู่ 4 ต.ทับน้ำ อ.บางปะหัน ซึ่งเป็นจุดที่พบฝูงเป็ดตาย เพื่อติดตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกไม่ให้ติดมาสู่คน นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากการเข้าเยี่ยมอาการของชายวัย 43 ปีที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกที่ร.พ.บางปะหัน ขณะนี้อาการหายเป็นปกติแล้ว ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบเชื้อไข้หวัดนก แพทย์จะให้กลับบ้านในวันนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประกาศให้ทุกอำเภอเป็นเขตภัยพิบัติไข้หวัดนก ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม. ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เอ็กซเรย์อาการของประชาชนทุกหมู่บ้าน รวมทั้งติดตามการป่วย/ตายของสัตว์ปีกในหมู่บ้านด้วยทุกวัน ตามมาตรการที่กำหนดไว้เป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะชาวบ้านที่หมู่ที่ 4 ต.ทับน้ำ ที่มีเป็ดตาย จะเฝ้าระวังในคนเป็นเวลา 14 วัน ส่วนสัตว์ปีกต้องเฝ้าระวังต่ออีก 30 วันตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆด้วยทั้งที่มีและยังไม่มีสัตว์ปีกป่วยตาย นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า หากประชาชนรายใดที่มีอาการป่วยด้วยไข้ ไอ หายใจหอบ และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วยหรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่มีสัตว์ปีกป่วย/ตาย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออสม.ที่อยู่ใกล้ทันที อย่าชะล่าใจหรือไปซื้อยารักษาตัวเอง โรคนี้ไม่มียารักษาโดยตรง มีเพียงยาต้านไวรัสซึ่งมีฤทธิ์ระงับไม่ให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวในร่างกายมากขึ้น ฉะนั้นผู้ป่วยทุกรายจะต้องเข้ารับการดูแลรักษาเฝ้าระวังอาการในโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะโรคนี้มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 70 เชื้อไวรัสจะลุกลามเข้าปอดได้เร็วมาก โดยยาต้านไวรัสไข้หวัดนก ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมไว้ให้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยา และให้แพทย์ให้ยาทันทีหลังผลทดสอบเบื้องต้นเป็นบวก หรือภายใน 48 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอผลยืนยัน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รองรับผู้ป่วยได้ 80,000 ราย พร้อมชุดทดสอบเชื้อไข้หวัดใหญ่ภาคสนามไว้ในโรงพยาบาลทุกระดับอย่างเพียงพอ ตลอด 24 ชั่วโมง และให้การรักษาฟรีทุกราย ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2550 สำนักระบาดวิทยาได้รายงานมีผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ หรือป่วยด้วยปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต 12 เขต สะสมทั้งหมด 115 ราย จาก 32 จังหวัด ในรอบวันที่ 21 มกราคม 2550 ได้รับรายงาน 4 ราย ดังนี้ จ.อ่างทอง 2 ราย ประจวบคีรีขันธ์ และสุโขทัยจังหวัดละ 1 ราย ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการสอบสวน และรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการจำนวน 31 ราย สำหรับสถานการณ์การป่วยของโรคไข้หวัดนกทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไข้หวัดนกยังอยู่ระหว่างการติดจากสัตว์ปีกสู่คน ยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน โดยตั้งแต่ พ.ศ.2546-15 มกราคม 2550 มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก 267 ราย เสียชีวิต 161 ราย ใน 10 ประเทศ คือ อาเซอร์ไบจัน กัมพูชา จีน จิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ไทย ตุรกี เวียตนาม โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2550 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกเสียชีวิตอีก 2 ราย คือจากประเทศอินโดนีเซีย และอียิปต์ ***************************** 22 มกราคม 2550


   
   


View 8    22/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ