รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด เข้มข้นการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ล้างทำความสะอาดตลาดสด 1,500 แห่งทั่วประเทศ และฆ่าเชื้อแผงจำหน่ายอาหาร สร้างความมั่นใจผู้บริโภคช่วงตรุษจีน แนะพ่อค้าแม่ค้า ซื้อเป็ดไก่จากโรงเชือดที่ผ่านมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เป็ดไก่ที่วางขายหากพบมีจุดเลือดออก หรือมีรอยช้ำ ไม่ควรซื้อ บ่ายวันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2553) นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ตรวจเยี่ยมตลาดเยาวราช กทม. และเยี่ยมชมโรงเชือดสัตว์ปีก แผงประกอบการค้าสัตว์ปีก เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนในการเลือกซื้อเป็ดไก่ ช่วงเทศกาลตรุษจีน ลดความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดนก นางพรรณสิริกล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในประเทศมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่อาจวางใจได้ เนื่องจากยังพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในบางจังหวัด ดังนั้นเพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ประชาชนไทยเชื้อสายจีนที่มีทั่วประเทศประมาณ 8 ล้านคนหรือร้อยละ 13 ของประชากรทั้งประเทศ จะมีการจับจ่ายสินค้า โดยเฉพาะเป็ดไก่เป็นจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่วันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อใช้ในการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ และสำนักอนามัย กทม. ออกสุ่มสำรวจแผงค้าสัตว์ปีกในตลาดสดต่างๆใน กทม. เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งหากโรคนี้ระบาดอีก ก็จะมีโอกาสเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งอยู่ในช่วงการระบาดระลอก 2 ในขณะนี้ได้ ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ดำเนินการเข้มข้นเป็นพิเศษในช่วงตรุษจีนใน 2 เรื่องหลัก ประการแรกได้แก่ การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ ให้ความรู้ผู้ประกอบการโรงเชือด และพ่อค้าแม่ค้าให้ซื้อเป็ด ไก่ จากโรงเชือดที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ โดยเนื้อสัตว์ปีกจะมีป้ายรับรองคุณภาพจากกรมปศุสัตว์ ที่สำคัญขอให้ประชาชนเลือกซื้อเป็ดไก่จากตลาดสดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นตลาดสดน่าซื้อ เพื่อความมั่นใจว่าจะปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก ประการที่ 2 ให้ล้างตลาดสดที่มีกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศและฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนตามแผง เขียง ซึ่งปกติจะดำเนินการเดือนละ 1 ครั้ง จะให้ดำเนินการถี่ขึ้น ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ค้าสัตว์ปีกซึ่งมีความเสี่ยงติดโรค จะต้องไม่ซื้อสัตว์ปีกที่มีอาการผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ซึมหงอย ขนฟู หงอนเหนียงบวมคล้ำ มีน้ำมูกหรือขี้ไหล และไม่นำไก่หรือเป็ดที่ตายมาชำแหละขาย ล้างทำความสะอาดกรงและอุปกรณ์ที่ใช้ขังไก่ด้วยน้ำผงซักฟอกและนำไปผึ่งกลางแดดจัดๆ หรือราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการชำแหละ ส่วนผู้ชำแหละต้องสวมเสื้อกันเปื้อน พลาสติก สวมถุงมือ รองเท้าบู๊ท เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อทุกครั้งระหว่างชำแหละ หากสัตว์ที่ชำแหละมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออก มีน้ำหรือเลือดคั่ง เครื่องในมีจุดเนื้อตายสีขาว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที อย่านำไปจำหน่ายอย่างเด็ดขาด สำหรับประชาชนขอให้รับประทานสัตว์ปีกที่ปรุงสุกเท่านั้น เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะถูกทำลายด้วยอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป และยึดหลักกินของร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังออกจากห้องน้ำ โดยเฉพาะหลังจับเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่ปนเปื้อนมูลสัตว์ สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ในปี 2553 พบผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกที่ประเทศอียิปต์ 6 ราย สรุปตั้งแต่พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา มีรายงานผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกทั้งหมด 473 ราย เสียชีวิต 282 ราย ใน 15 ประเทศ คือ อาเซอร์ไบจันป่วย 8 ราย เสียชีวิต 5 ราย บังคลาเทศป่วย 1 ราย กัมพูชาป่วย 9 ราย เสียชีวิต 7 ราย จีนป่วย 38 ราย เสียชีวิต 25 ราย สาธารณรัฐจิบูตีป่วย 1 ราย อียิปต์ป่วย 96 ราย เสียชีวิต 27 ราย อินโดนีเซียป่วย 161 รายเสียชีวิต 134 ราย อิรักป่วย 3 ราย เสียชีวิต 2 ราย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวป่วย 2 ราย เสียชีวิต 2 ราย พม่าป่วย 1 ราย ไนจีเรียป่วย 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย ปากีสถานป่วย 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย ไทยป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย ตุรกีป่วย 12 ราย เสียชีวิต 4 ราย และเวียดนามป่วย 112 รายเสียชีวิต 57 ราย ********************************** 9 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 11    09/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ