เผยพบกรณีผู้ประกอบการซื้อขวดพลาสติกที่มีฉลากสำเร็จรูปซึ่งไม่ถูกต้อง มีเลข อย. ปลอม ระบุเลข สารบบอาหาร 10-2-15362-2-0082 นำมาบรรจุเครื่องดื่มรังนกขาย อย.และสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เร่งรัดตรวจจับและดำเนินคดีข้อหาผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอมมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ขอเตือนผู้บริโภคที่นิยมดื่ม “เครื่องดื่มรังนก” ควรพิจารณาให้ดีก่อนซื้อ โดยเฉพาะหากพบเห็นเครื่องดื่มรังนกมีเลขสารบบในเครื่องหมาย อย. ดังกล่าว แจ้งร้องเรียน อย. โทร. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ หรือหากพบ/สงสัยในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนก หรือต้องการตรวจสอบเลขสารบบอาหาร สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ อย. โทร. 0-2590-7442 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องขอหารือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง (สสจ.ระนอง) ว่า ปัจจุบันพบมีการจำหน่ายขวดพลาสติกเปล่า สำหรับบรรจุเครื่องดื่มรังนกพร้อมปิดผนึกฉลากข้างขวด ซึ่งระบุเลขสารบบอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. อย่างแพร่หลายในร้านค้าทั่วไป โดยมีข้อความระบุบนฉลากถึงส่วนประกอบต่างๆ อาทิ รังนกแห้ง น้ำตาล ไม่ใช้วัตถุกันเสีย โปรดแช่เย็น รวมถึงระบุเลขสารบบอาหาร 10-2-15362-2-0082 ซึ่งเลขสารบบดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาต หรือที่เรียกว่า “เครื่องหมาย อย.ปลอม” ซึ่งมีความไม่ถูกต้องหลายประการที่สามารถเห็นได้จากรูปลักษณ์ภายนอก เช่น ที่ฉลากอาหารมีความไม่ถูกต้องทั้งหน่วยงานที่อนุญาต สถานที่ผลิต รวมทั้งปี พ.ศ. ที่อนุญาต เข้าข่ายเป็นการปลอมเลขสารบบ ดังนั้น อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงเร่งดำเนินการพิจารณากรณีดังกล่าว สรุปได้ 2 กรณี ได้แก่ กรณีผู้ผลิตเครื่องดื่มรังนกที่นำขวดพลาสติกดังกล่าวไปบรรจุอาหารเพื่อจำหน่าย ถือว่ามีความผิดในข้อหาผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายอาหารปลอม โดยใช้ฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิด เนื่องจากใช้เลขสารบบปลอม มีความผิดตามกฎหมายเข้าข่ายอาหารปลอมมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท กรณีตั้งโรงงานผลิตเพื่อจำหน่ายเครื่องดื่มรังนก โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากผู้รับอนุญาตผลิตอาหารไม่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ผลิตภาชนะบรรจุและผู้จำหน่ายภาชนะบรรจุที่เป็นขวดพลาสติกเปล่าแก่ผู้ผลิตจะมีความผิดแห่งประมวลกฎหมายอาญาในฐานะผู้สนับสนุนให้กระทำความผิดในข้อหาผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอมหรือจำหน่ายอาหารปลอม ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดข้อหาผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอมหรือจำหน่ายอาหารปลอม นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนก หากต้องการเลือกซื้อรังนกเพื่อการปรุงจำหน่ายหรือบริโภคในครัวเรือน ควรพิจารณาที่ราคาเหมาะสม มีฉลากระบุชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย และมีเครื่องหมาย อย. ที่ชัดเจน หรือหากสงสัยว่าเครื่องหมาย อย.ที่ผลิตภัณฑ์ถูกต้องหรือไม่ สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โทร.0-2590-7442 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำหรับวิธีการเลือกซื้อที่ดูจากตัวผลิตภัณฑ์นั้น เนื่องจากปัจจุบันในท้องตลาดมีทั้งเครื่องดื่มรังนกแท้และรังนกปลอม จากยางคารายากัมจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในร้านค้าทั่วไป ซึ่งมีลักษณะที่ดูจากภายนอกคล้ายกันมาก โดยมีวิธีสังเกต ดังนี้ รังนกแท้ จะมีกลิ่นคาวของน้ำลายนกนางแอ่นในขณะตุ๋น เห็นเป็นเส้นชัดเจน และมีรสชาติความอร่อยและความข้นเหนียวของรังนก ส่วนรังนกปลอม จะไม่มีกลิ่นคาวเลย มีลักษณะเป็นก้อนหรือแผ่นเล็กๆ คล้ายวุ้น ไม่มีรสชาติความอร่อยแม้จะผ่านการปรุงรสมาแล้ว และยังไม่มีความข้นเหนียวเหมือนรังนกแท้อีกด้วย ดังนั้น หากต้องการซื้อรังนกนางแอ่นแท้ชนิดแห้ง ควรซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือไว้ใจได้ นายจุรินทร์ กล่าว ****************************** 7 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 13    07/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ