วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2553) ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี พิทยโชติสุนนท์ ผู้เชี่ยวชาญกรมการแพทย์ และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทั่วประเทศ ผ่านระบบเว็บ คอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อมอบนโยบายการดำเนินการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในการประชุมทางไกลผ่านระบบเว็บในวันนี้ เพื่อต้องการเน้นย้ำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติที่ต้องดำเนินการร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะการให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยง ประเด็นสำคัญคือ ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงการระบาดระลอก 2 ในภาพรวมพบว่าการแพร่ระบาดกระจายไปสู่ชนบท และมีการระบาดเป็นจุด เป็นหย่อม ๆ ทุกจังหวัดจึงต้องมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหา ทั้งด้านการเฝ้าระวัง การควบคุมป้องกัน และการรักษา รวมทั้งร่วมกันปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยเคร่งครัด จากการพิจารณาผลการดำเนินงานให้บริการวัคซีน ตั้งแต่ 11 มกราคม – 29 มกราคม 2553 พบว่า ช่วงประมาณเกือบ 20 วัน วัคซีนที่ได้รับมา 2 ล้านโด๊ส ตั้งเป้าฉีดใน 5 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ คนอ้วนน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป และบุคลากรสาธารณสุข ปรากฏว่าให้บริการแล้ว 125,670 ราย คิดเป็นสัดส่วนต่อวัคซีนที่มีอยู่ยังไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่มีระยะเวลาที่กำหนดรณรงค์ไว้ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2553 จึงต้องวิเคราะห์หาสาเหตุ ปัญหาหนึ่งที่พบคือประชาชนไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของวัคซีน เกิดจากข่าวที่ปรากฏในสื่อ โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ขอเรียนให้ทราบว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระทางวิชาการ ที่มีพญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ เป็นประธานได้ข้อสรุปว่า ทุกกรณีที่เป็นข่าวเกิดกับหญิงตั้งครรภ์เกิน 3 เดือนขึ้นไปหลังได้รับการได้รับวัคซีนนั้น ไม่ได้เกิดจากวัคซีน แต่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการด้านวัคซีน ซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการฯ ที่มีนพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาแนวทางที่ควรดำเนินการเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 และให้คำแนะนำชัดเจนว่า นโยบายเรื่องการรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 นั้น ไม่ควรชะลอ เพราะตัวเลขการเกิดปัญหาที่ติดตามในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้มีจำนวนมากกว่าการฉีดวัคซีนตามปกติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงฝากให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่ รณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงมารับการฉีดวัคซีน เน้นความสมัครใจ ไม่บีบบังคับ ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นการให้ข้อมูลความรู้แก่กลุ่มเสี่ยง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจรับการฉีดวัคซีน ว่า 1.การป้องกันดีกว่าการรักษาหรือกันไว้ดีกว่าแก้ 2.กรณีหญิงตั้งครรภ์ควรให้ความรู้ว่า โดยปกติแม้จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไปซึ่งมีประมาณปีละ 500,000 ราย โดยเฉลี่ยเด็กในครรภ์จะเกิดการเสียชีวิตหรือแท้งได้ร้อยละ 0.5-0.8 มาตรการป้องกันยังคงเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ เพราะหากไม่ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ หากเกิดการแพร่ระบาดใหญ่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงมากกว่า นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันจะต้องให้ความรู้ถึงผลข้างเคียงที่จะตามมา และทำความเข้าใจว่ามีความแตกต่างอย่างไรกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่เราฉีดมาเป็นเวลากว่า 10 ปี รวมทั้งการให้ความรู้ว่า วัคซีน 2 ล้านโด๊สที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นำเข้ามานั้น มาจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีการผลิตวัคซีนนี้มากที่สุดในโลกในปัจจุบัน ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และผ่านการขึ้นทะเบียนกับอย. และทุกโด๊สที่กระจายออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ จะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้งโดยละเอียด นายจุรินทร์กล่าวต่ออีกว่า ในการให้บริการวัคซีน เป้าหมายสำคัญคือความปลอดภัยของผู้ได้รับการฉีด ได้เน้นให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 6 ประการอย่างเคร่งครัด ได้แก่ 1. โรงพยาบาลจะต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยหากเกิดอาการผิดปกติ เช่นเครื่องช่วยหายใจ 2.มีเจ้าหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจก่อนให้บริการฉีดวัคซีน ถึงข้อมูลและผลข้างเคียง เพื่อให้ผู้รับบริการใช้ประกอบการตัดสินใจ 3.จะต้องตรวจสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงที่มารับบริการก่อน ว่าควรได้รับการฉีดวัคซีนในขณะนั้นหรือไม่ 4.หลังฉีดวัคซีน ผู้รับการฉีดจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสถานพยาบาลนั้นอย่างใกล้ชิด อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง 5.มีระบบการติดตามอาการหลังฉีดของผู้รับบริการแต่ละราย และการประสานงานหากเกิดอาการข้างเคียงตามมา และ6.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกิน 3 เดือนขึ้นไป จะต้องมีสูติแพทย์หรือพยาบาลผู้รับฝากครรภ์ ร่วมให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้รับบริการทุกราย สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ตั้งแต่ 11 มกราคม – 29 มกราคม 2553 รวม 125,670 ราย ประกอบด้วยบุคลากรการแพทย์ 84,099 ราย ผู้ป่วยเรื้อรัง 24,428 ราย หญิงตั้งครรภ์ 12,885 ราย คนอ้วน 3,166 ราย และผู้พิการ 807 ราย โดยจังหวัดที่มียอดการให้บริการค่อนข้างต่ำ 6 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ 54 ราย ปทุมธานี 133 ราย สระแก้ว 202 ราย เลย 215 ราย และร้อยเอ็ด 250 ราย ************************************* 4 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 12    04/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ