วันนี้(4 กุมภาพันธ์ 2553) ที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เรื่องการลดน้ำหนักตัวจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสุดท้าย “Obesity Summit 2010 : Weight Reduction from A-Z” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีแพทย์ และนักโภชนาการจากทุกภูมิภาคทั่วโลก มาร่วมประชุม 400 คน ซึ่งจะช่วยยกระดับ เพิ่มทักษะของแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคอ้วนและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้มาตรฐานคลินิกลดน้ำหนักในประเทศไทยดีขึ้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คณะแพทยศาสตร์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิริราชพยาบาล และ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อส่งเสริมความรู้ทางวิชาการด้านโรคอ้วนและอ้วนลงพุงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นคุณภาพการรักษาพยาบาลควบคู่ไปกับคุณภาพทางด้านบริการ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการ การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะอ้วนและอ้วนลงพุงในระดับภูมิภาค เป็นการต่อยอดนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาคหรือเมดิคอล ฮับ (Medical Hub) ยกระดับมาตรฐานการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในประเทศ เป็นต้นแบบการดูแลรักษาสุขภาพให้กับประเทศต่างๆในภูมิภาค นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้การรักษาโรคอ้วนแบบครบวงจร ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ในการจัดการกับโรคอ้วนอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เรื่องของน้ำหนัก การรักษาด้วยโภชนบำบัด การรักษาด้วยยา การผ่าตัดกระเพาะอาหาร เลเซอร์ การจัดการกับความเครียด และรักษา รวมถึงการป้องกันโรคอ้วน ถือเป็นการมาตรการการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากโรคอ้วนเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและความดันโลหิต ทั้งนี้การให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุมน้ำหนัก ส่งผลต่อการเกิดการพัฒนาด้านเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหารแปรรูป ยาจากสมุนไพร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และอาหารเสริมต่างๆ ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ ลดการนำเข้า ยังเป็นการส่งเสริมการส่งออก และที่สำคัญเพื่อนำมาประกอบกับคุณภาพมาตรฐานการรักษาโรคอ้วนแล้ว ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศในการเดินหน้าเป็นศูนย์กลางสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาค ซึ่งในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มรณรงค์โครงการแก้ปัญหาโรคอ้วนเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาส 84 พรรษา รวมถึงจะมุ่งเน้นในการดูแลเรื่องความดันโลหิต เบาหวาน ที่จะมีผลตามมาจากโรคอ้วนด้วย นายจุรินทร์ กล่าวในที่สุด อนึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุด ระบุว่า โรควิถีชีวิตโดยเฉพาะโรคอ้วน กำลังเป็นสาเหตุก่อให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตหลายโรค ที่สำคัญได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง โดยเป็นสาเหตุการตายของคนในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 66 ของการตายทุกสาเหตุ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก โดยสาเหตุที่ทำให้คนอ้วนเกิดจากการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม เช่น กินอาหารรสหวาน มัน เค็มเพิ่มขึ้น แต่กินผักผลไม้น้อย และขาดการออกกำลังกาย โรคดังกล่าวมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจโลก มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง องค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุดในปีพ.ศ. 2548 ประชากรโลกอายุ 15 ปี ขึ้นไปน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวน 1,600 ล้านคน และมีผู้ใหญ่อ้วนมากถึง 400 ล้านคน ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ประมาณ 20 ล้านคน โดยปัญหานี้จะเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ทั่วโลกจะมีผู้ใหญ่น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานประมาณ 2300 ล้านคน และมีคนอ้วนประมาณ 700 ล้านคน สำหรับประเทศไทยคนไทย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ในกลุ่มอายุ 20-29 ปี มีภาวะโรคอ้วนเพิ่มเกือบ 7 เท่าตัว จากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 21 ในกลุ่มอายุ 40-49 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว ล่าสุด ผลการสำรวจภาวะอ้วนลงพุงในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ในปี 2551 ของกรมอนามัย พบว่า เพศชายมีรอบเอวเกินมาตรฐานคือ ตั้งแต่ 90 เซนติเมตรขึ้นไปร้อยละ 34 และเพศหญิงรอบเอวตั้งแต่ 80 เซนติเมตรขึ้นไปร้อยละ 58 เนื่องจากมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป ทำให้เป็นโรคอ้วนลงพุงหรือที่เรียกว่าเมตาบอลิก ซินโดรม (Metabolic Syndrome) ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และระดับไขมันในเลือดสูง เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น โดยรอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวาน 3-5 เท่า ทั้งนี้ นักวิชาการจากเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ร่วมกับกรมอนามัย ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคขนมและเครื่องดื่มของเด็กใน 24 ชั่วโมง จากเด็ก 5,764 คน ใน 143 โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก 9 แห่ง ใน 24 จังหวัด ในปี 2549-2550 พบว่า เด็กบริโภคขนม เครื่องดื่ม ทั้งสิ้น 27,771 รายการ โดยดื่มน้ำอัดลมเฉลี่ยคนละ 1 กระป๋องต่อวัน และขนมกรุบกรอบคนละ 2-3 ห่อต่อวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นชนวนที่จะก่อโรคอ้วนในเด็กไทยในอนาคต จากการสำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของประชากร พ.ศ.2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไปที่มีทั้งหมด 16.3 ล้านคน ออกกำลังกายร้อยละ 29.6 โดยกลุ่มอายุที่ออกกำลังกาย มากที่สุดคือ วัยทำงานอายุ 25-29 ปีคิดเป็นร้อยละ 40.3 รองลงมาอายุ 15.24 ปีร้อยละ 29.3 และ 11-14 ปี ร้อยละ 18.4


   
   


View 12    04/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ