วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลประชาชนในพื้นที่กันดารและพื้นที่เฉพาะ ว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ เพราะว่าพื้นที่กันดารและพื้นที่เฉพาะทั่วประเทศ มีพื้นที่ครอบคลุม 49 จังหวัด 479 อำเภอ 4,128 ตำบล หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ จึงเป็นพื้นที่ที่สำคัญ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ พื้นที่บริเวณชายแดน 4 ประเทศ คือไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา ไทย-ลาวและไทย-มาเลเซีย กลุ่มที่ 2 คือพื้นที่ที่มีการแยกออกมาเป็นการเฉพาะ คือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มที่ 3 คือพื้นที่ถัดไปที่เป็นเกาะและอยู่ติดชายทะเลที่อยู่ห่างไกล และกลุ่มที่ 4 คือพื้นที่ที่ราบสูง ซึ่งแต่ละส่วน กระทรวงสาธารณสุขก็จะมีมาตรการที่จะสนับสนุนให้บริการสาธารณสุขมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ โดยสภาพปัญหาที่พบในขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ ปัญหาในการให้บริการด้านสุขภาพกับประชาชน และปัญหาด้านการเงินการคลัง ของสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในเรื่องปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณตามแนวชายแดน จะมีทั้งในส่วนของการรักษาพยาบาลและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เช่น มาลาเรีย โรคเอดส์ และวัณโรค ที่เกิดจากบุคคลไร้สัญชาติ และเป็นแรงงานที่ข้ามเข้ามาทำงานในประเทศไทยบริเวณแนวชายแดนนำโรคเหล่านี้เข้ามาแพร่ระบาดคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องแก้ไขในขณะนี้ ส่วนเรื่องการรักษา โรงพยาบาลที่อยู่ตามแนวชายแดนปฏิเสธการรักษาคนไร้สัญชาติ หรือรอพิสูจน์สัญชาติและกลุ่มแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยไม่ได้ ในที่สุดเมื่อต้องเข้ามารักษาในประเทศไทยก็เท่ากับต้องไปเจียดเงินค่ารักษาพยาบาลรายหัวที่ใช้รักษาคนไทย ไปใช้รักษาคนกลุ่มนี้ด้วย ทำให้กระทบต่อการรักษาคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้ประชุมผู้บริหารของกระทรวงฯ ในวันนี้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา เป้าหมายใหญ่คือการแก้ปัญหาให้กับคนไทยไม่ให้ติดโรคระบาด ซึ่งจะต้องมีวิธีการในการเข้ามาดูแล ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิเสธการรักษาคนกลุ่มนั้น แต่คนไทยจะต้องได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพด้วยเช่นเดียวกัน นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมในวันนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น โดยได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สป.สช.) 3.กรมควบคุมโรค และ4.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปใน 2 ส่วน คือ 1. มาตรการควบคุมโรคตามแนวชายแดนนั้นจะดำเนินการในรูปแบบใดจึงจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการใช้เงินงบประมาณที่มีอยู่ เช่นการจัดตั้งกองทุน 2. การจัดระบบดูแลกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติประมาณ 570,000 คน โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลคนไทยที่อยู่บริเวณชายแดน โดยไม่ต้องไปเบียดงบฯ ที่จะใช้ในการรักษาคนไทย ขอให้ทั้ง 4 องค์กรร่วมกันทำให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อจะพิจารณาดำเนินการต่อไป หากต้องเสนอต่อครม.ก็จะได้นำเสนอต่อไป หากตัดสินจบได้ในขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขหรือสป.สช.ก็จะจบได้ใน 2 สัปดาห์ ส่วนมาตรการที่จะดำเนินการภายในของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ 1.เกลี่ยเงินในกองทุนฉุกเฉินที่มีอยู่ในปีงบประมาณ จำนวนประมาณ 200 ล้านบาท มาใช้ในการแก้ปัญหา เพราะโดยหลักใหญ่เงินกองทุนนี้ จะใช้ทั่วประเทศ จะไม่ทิ้งและจะให้ความสำคัญกับพื้นที่เหล่านี้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะ ให้มากกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งได้มอบเป็นนโยบายสามารถดำเนินการได้ทันที 2. มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปช่วยดูว่าในบรรดาโรงพยาบาลที่มีอยู่ตามแนวชายแดนให้สามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นเครือข่าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในเรื่องของหลักวิชาการด้านการบริหารจัดการ หรือประสบการณ์ต่างๆ ได้อย่างไร จะแบ่งกลุ่มในการช่วยเหลือสนับสนุนกันอย่างไร รวมทั้งถ่ายทอดเทคนิคในการป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้วงเงินงบประมาณที่มีจำกัด ทั้งนี้ กองทุนฉุกเฉินที่มีเงินประมาณ 200 ล้านบาทนั้น เป็นกองทุนที่มีไว้เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลทั่วประเทศ การจัดสรรเงินปกติจะกระจายไปทั่วประเทศ และครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์ใดๆ แต่ได้ให้ความสำคัญและความจำเป็นบริเวณถิ่นทุรกันดารที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ได้รับเงินรายหัว ต่ำกว่าปริมาณผู้ป่วยที่มาใช้บริการจริง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่ใช่คนไทย แต่ต้องดูแลรักษาตามหลักมนุษยธรรม กระทรวงสาธารณสุข จะเข้าไปดูแลว่าจะช่วยเหลือโรงพยาบาลเหล่านี้ได้อย่างไร แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิ์โรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศที่มีปัญหาเช่นกัน นายจุรินทร์ กล่าวในตอนท้าย ***************************************** 1 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 11    01/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ