รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบน้ำหมักชชีวภาพครอบจักรวาลป้าเช็ง ให้เสร็จภายในวันจันทร์นี้ พร้อมเดินเครื่องใช้กฎเหล็ก ควบคุมความปลอดภัยอาหารและยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ เน้นประชาสัมพันธ์ให้ประชนรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ วันนี้ ( 22 มกราคม 2553 ) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลุยตรวจร้าน “ป้าเช็ง” ขายน้ำหมักชีวภาพ โฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถรักษาโรคได้อย่างครอบจักรวาล เมื่อวานนี้ว่า กรณีนี้พบการกระทำความผิดชัดเจนเป็นความผิดหลายกระทงดังนี้ 1. ผลิตและ/หรือขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5 พันบาท 2. ขายยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท 4. โฆษณาขายยาโดยกล่าวอ้างว่า สามารถบำบัด บรรเทา รักษาโรคที่รัฐมนตรีห้ามตามประกาศฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท 5. ประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าพบว่าประกอบโรคศิลปะจริงก็จะมีความผิดในข้อหาประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายจุรินทร์กล่าวว่า จะมีการนำของกลางทั้งหมดส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งปกติจะใช้ประมาณ 7 วัน แต่ได้เร่งรัดให้เร็วขึ้น ทราบผลอย่างช้าในวันจันทร์ และจะแถลงให้ประชาชนรับทราบต่อไป ขณะนี้ได้สั่งระงับการผลิต การจำหน่ายและการโฆษณาไว้ทั้งหมดแล้ว และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เฝ้าระวังว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆที่ผิดกฎหมายเพิ่มเติม นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค จัดเป็น 1 ใน 10 นโยบายสำคัญที่มอบไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างประการหนึ่งที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย ซึ่งต่อไปจะได้มุ่งเน้นครอบคลุมทุกเรื่องที่เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งด้านอาหารและยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยแนวทางสำคัญต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ซึ่งได้มอบให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จัดทำแผนปฏิบัติการขึ้นมา เพื่อนำมากำหนดแผนการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มข้นและชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน โดยจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดหรือแหล่งสงสัย รวมทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำหนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย “ขอให้ประชาชนระมัดระวัง ต้องตระหนักและใช้วิจารณญาณ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาแอบอ้างสรรพคุณของยาหรืออาหารใดๆที่ผิดปกติ ซึ่งต่อจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะให้ความสำคัญทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายและการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชน ผู้บริโภคได้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่ออีกต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว ************************************ 22 มกราคม 2553


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ