นพ.สสจ.ตากสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงทันที “บุคลากรสาธารณสุข” ดื่มแอลกอฮอล์ในวอร์ด รพ.
- สำนักสารนิเทศ
- 1387 View
- อ่านต่อ
2 รัฐมนตรีสาธารณสุข เปิดเวทีสรุปผลการดำเนินงานปี 2567 พร้อมมอบนโยบายปี 2568 “สมศักดิ์” เผย 5 ผลงานเด่น ดันร่าง พ.ร.บ.กสธ. ร่าง พ.ร.บ.อสม. ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิตควบภารกิจยาเสพติด ลุยปราบบุหรี่ไฟฟ้า และโครงการ 9 หมอ ประกาศเดินหน้า 7 นโยบายหลัก ทั้ง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพิ่มเข้าถึงบริการสุขภาพจิต-ยาเสพติด ลดโรค NCDs สร้างเครือข่ายภาคประชาชนเข้มแข็ง ดูแลกลุ่มเปราะบางพื้นที่พิเศษ ปั้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างเศรษฐกิจ และดูแลขวัญกำลังใจบุคลากร
วันนี้ (26 กันยายน 2567) ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเวทีแถลงผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2567 ร่วมกับ นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม พร้อมถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กกระทรวงสาธารณสุขไปยังบุคลากรและประชาชนทั่วประเทศ
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2567 เรื่องของกฎหมายหลักๆ มี 3 ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กสธ.) ซึ่งจะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถบริหารจัดการงานด้านบุคลากรได้ด้วยตนเอง โดยคณะกรรมการที่มีความรู้และความเข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้การบริหารงานทรัพยากรบุคคลมีความคล่องตัว ปรับปรุงค่าตอบแทนได้อย่างเหมาะสม พัฒนาสายอาชีพที่เฉพาะเจาะจง เกิดระบบบริการที่มีคุณภาพและรวดเร็วขึ้น สามารถกระจายบุคลากรไปยังพื้นที่ห่างไกลเพื่อดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง 2.ร่าง พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.อสม.) จะช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่ อสม. กำหนดค่าป่วยการเดือนละ 2 พันบาท พร้อมสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 ร่างผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่ ครม.ต่อไป และ 3.ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่จะตั้งกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อหางบประมาณสนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตทุกมิติ และปรับนิยามให้ครอบคลุมผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชในไทยมากกว่า 70% มีปัญหาเรื่องของการใช้สารเสพติดร่วมด้วย
“การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น ได้ปรับภารกิจการบำบัดยาเสพติดจากกรมการแพทย์ไปยังกรมสุขภาพจิต เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ซึ่งการควบรวมภารกิจยาเสพติดและจิตเวช จะช่วยยกระดับหน่วยบริการให้สามารถบริการได้อย่างครอบคลุมทั้งทางกายและจิต มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ครบวงจร ลดเวลาและค่าใช้จ่าย การผลักดันชุดสิทธิประโยชน์เป็นไปแบบไม่แยกส่วน” นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า อีกเรื่องสำคัญคือการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า และมีอันตรายอย่างมากจากนิโคตินที่เข้าสู่สมองภายใน 7 วินาที ส่งผลต่อความจำ สติปัญญาและพฤติกรรม เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดต่างๆ ทั่วร่างกาย นำไปสู่โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่นๆ ที่ผ่านมามีข้อสั่งการผ่านมติคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นทุกหน่วยงานร่วมกันปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และเรื่องสุดท้ายคือ โครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพ (โครงการ 9 หมอ) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขากระจายไปสู่ภูมิภาค ระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568-2577 รวม 62,000 คน ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 วงเงิน 3,723 ล้านบาท
นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย ปีงบประมาณ 2568 จะมุ่งสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่ประชาชนทุกระดับ และยกระดับระบบสุขภาพคนไทยทุกมิติ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่งนอกจากพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์แล้ว จะดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ เน้นเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศ ภายใต้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของข้อมูลสุขภาพ, พัฒนาระบบบริการด้วยเทเลเมดิซีน, AI และการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์, ขยายเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิดิจิทัล และพัฒนาโรงพยาบาลรัฐ ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ 2.เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด โดยพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งระบบบริการให้คำปรึกษาโดย “นักจิตบำบัด” ให้มีมาตรฐาน, ยกระดับ “มินิธัญญารักษ์” และ “ทีมชุมชนล้อมรักษ์” รองรับระบบบำบัด รักษา ฟื้นฟู ที่มีแบบแผนเฉพาะบุคคล และให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยหลังบำบัด และตั้งกรมสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด ปรับปรุงโครงสร้างระดับพื้นที่
3.คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ โดยส่งเสริมสุขภาพทุกมิติเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่สำคัญ ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ, ผลักดันแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาพองค์รวมสู่การปฏิบัติ, ปรับปรุงกฎหมายและมาตรการให้เอื้อต่อการควบคุม ดูแลส่งเสริมสุขภาพ เช่น พ.ร.บ. NCDs การป้องกันผู้สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่, สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม, สานต่อนโยบายมะเร็งครบวงจร ขยายความครอบคลุมการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) คัดกรองป้องกันมะเร็ง และผลักดันแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว 4.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน โดยเฉพาะ อสม. พัฒนากฎหมายสนับสนุน เช่น พ.ร.บ.อสม. เพิ่มศักยภาพ อสม. เพื่อส่งเสริมงานสุขภาพเชิงรุกในชุมชน และส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม
5.จัดระบบบริการสุขภาพเพื่อกลุ่มเปราะบางและพื้นที่พิเศษ โดยยกระดับสถานชีวาภิบาลและกุฏิชีวาภิบาล, เพิ่มศักยภาพระบบบริการสุขภาพและหน่วยบริการพื้นที่ชายแดน และส่งเสริมการผลิตและจ้างงานผู้ดูแลผู้ป่วย (Caregiver) ในชุมชน เพื่อเพิ่มการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบางในระดับพื้นที่ 6.เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพสู่ Medical and Wellness Hub โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความปลอดภัยทุกมิติ, ยกระดับภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อการแพทย์ในระบบบริการ, เพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบ ลดขั้นตอนอนุมัติ/อนุญาต และส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ และ 7.บริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุข โดยเพิ่มการผลิตแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข สร้างความมั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจ พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.กสธ., พัฒนากฎหมายระบบสนับสนุนการบริหารจัดการโรงพยาบาลและการจัดซื้อจัดจ้าง, บริหารจัดการงบประมาณและกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาการสาธารณสุขกับภาคส่วนอื่น สานต่อนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ และพัฒนาโรงพยาบาลสีเขียว ปรับปรุงให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรทุกคน เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงของสุขภาพคนไทย สร้างระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งของประเทศ ซึ่งผมมั่นใจในศักยภาพของทุกคนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจภายใต้เป้าหมาย ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง และพร้อมจะร่วมแก้ปัญหาและสนับสนุนการดำเนินงานของทุกคน ทุกหน่วยงาน อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด และพลิกโฉมการสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขไทยต่อไปอย่างยั่งยืน”นายสมศักดิ์กล่าว
ด้านนายเดชอิศม์กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมอนามัย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ โดยจะพัฒนาศักยภาพการบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์แผนไทย อาหารไทย สมุนไพรไทย การรักษาพยาบาล รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ คือ วัตถุดิบ ไปจนถึงปลายน้ำ คือ การผลิตและส่งออก ซึ่งตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้ได้มากกว่า 1.04 แสนล้านบาท ภายในปี 2570
นอกจากนี้ จะร่วมผลักดันการดูแลสุขภาพองค์รวม ที่ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดีในทุกมิติ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ เน้นการนำภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม และส่งเสริมการผลิตและจ้างงานผู้ดูแลสุขภาพในชุมชน หรือ Caregiver เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนแข็งแรงตามวัย ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่สามารถป้องกันได้ รวมทั้งจะให้การสนับสนุนทุกหน่วยงานในกำกับดูแล เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานสำคัญตามนโยบายและนำพาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
*************************************************** 26 กันยายน 2567