วันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 เวลา 15.49 น. ที่ห้องประชุมร่มฉัตร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) จังหวัดนครพนม ร่วมประชุมทางไกล (Web Conference) เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข 1 (PHEOC-1) ชั้น 7 อาคาร 5 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 

       สำหรับวาระการประชุมในครั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบมาตรการการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล พร้อมรับทราบสถานการณ์ภาพรวมและการเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากนี้ ได้มีการรายงานให้ที่ประชุมทราบสถานการณ์และการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย นครพนม อุบลราชธานี ชุมพร และจังหวัดยะลา 

       นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยสถานการณ์และผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีอุทกภัย จังหวัดนครพนม ว่า ภาพรวมการบาดเจ็บ เสียชีวิต สูญหาย ยังไม่มีในพื้นที่จังหวัดนครพนม พื้นที่ได้รับผลกระทบมี 5 อำเภอ 13 ตำบล คือ อำเภอบ้านแพง ศรีสงคราม ท่าอุเทน นาหว้า และอำเภอเมืองนครพนม โดยไม่มีหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ โรคและภัยสุขภาพที่พบจากการรักษาสะสม พบป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 241 ราย อุจจาระร่วงเฉียบพลัน 2 ราย อาหารเป็นพิษ 70 ราย เมลิออยโดซิส 7 ราย ไข้เลือดออก 33 ราย ไม่มีเหตุการณ์จมน้ำ-ไฟช็อต โดยได้กำชับให้ทุกพื้นที่ติดแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

       ในส่วนของการเฝ้าระวังประชาชนกลุ่มเปราะบาง จากการสำรวจมีผู้ป่วยฟอกไต 987 ราย ได้รับการเคลื่อนย้าย 1 ราย ผู้ป่วยติดบ้าน 716 ราย ไดรับการเคลื่อนย้าย 2 ราย ผู้ป่วยติดเตียง 111 ราย ได้รับการเคลื่อนย้าย 7 ราย และผู้พิการ 5,236 ราย ได้รับการเคลื่อนย้าย 2 ราย รวมจำนวนผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง 5,236 ราย ได้รับการเคลื่อนย้าย รวม 12 ราย ทั้งนี้ จังหวัดนครพนมได้เตรียมจัดตั้งศูนย์พักพิง 39 แห่ง รับได้ จำนวน 13,765 คน โดยจำแนกเป็นพื้นที่อำเภอนาทม จำนวน 6 แห่ง รับได้ 105 คน อำเภอบ้านแพง 2 แห่ง รับได้ 500 คน อำเภอศรีสงคราม 3 แห่ง รับได้ 600 คน อำเภอท่าอุเทน 4 แห่ง รับได้ 4,000 คน อำเภอนาหว้า 2 แห่ง รับได้ 400 คน อำเภอโพนสวรรค์ 2 แห่ง รับได้ 600 คน อำเภอปลาปาก 2 แห่ง รับได้ 260 คน อำเภอเมืองนครพนม 2 แห่ง รับได้ 2,500 คน อำเภอวังยาง 2 แห่ง รับได้ 400 คน อำเภอนาแก 1 แห่ง รับได้ 200 คน อำเภอเรณูนคร 2 แห่ง รับได้ 2,000 คน และอำเภอธาตุพนม 11 แห่ง ร้บได้ 2,200 คน

        “มาตรการที่จะดำเนินการต่อไป คือ การเฝ้าระวังทุกพื้นที่ที่ติดแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม เพื่อควบคุมโรคได้ทันท่วงที และออกให้คำแนะนำแก่ประชาชน ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบในชุมชน จัดทำช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขอความช่วยเหลือทุกพื้นที่ เตรียมความพร้อมยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้เพียงพอ รวมทั้งเตรียมทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ พร้อมปฏิบัติการได้ทันท่วงที” นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) จังหวัดนครพนม กล่าว


Facebook: งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
https://www.facebook.com/share/p/4dW3Ro6vsG5u5pMn/?mibextid=qi2Omg

Facebook: R8WAY_Communication
https://www.facebook.com/share/p/CuB9HZfoqxSSkWnN/?mibextid=A7sQZp

 



   
   


View 87    17/09/2567   ข่าวรอบรั้วภูมิภาค    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม