วานนี้ (6 กันยายน 2567) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยสุขภาพประชาชน ส่งทีม SEhRT ร่วมกับทีมจังหวัดลงพื้นที่เฝ้าระวังด้านการจัดการสุขาภิบาลในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยแพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มอบหมาย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายแพทย์ประสาน ชัยวิรัตนะ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ทีม SEhRT ส่วนกลาง และศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน พร้อมทั้งสื่อสารให้คำแนะนำการดูแลสุขอนามัยแก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพในช่วงน้ำท่วม

          นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และอาจเกิดความเสี่ยงสุขภาพอนามัยจากภาวะน้ำท่วมได้ รวมถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายอำเภอจากข้อมูลรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ วันที่ 6 กันยายน 2567 พบว่า มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 7 อำเภอ 71 ตำบล 10,376 หลังคาเรือน ได้แก? อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห? อำเภอบางไทร อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอบางปะหัน ซึ่งในพื้นที่ที่ประสบภัยมีประชาชนที่เป็นกลุ?มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางจำนวนมาก

          นายแพทย์เอกชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงมอบหมายทีม SEhRT ส่วนกลางและศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ประสานงานร่วมกับทีมระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจการจัดการสุขาภิบาลพื้นฐานและอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอผักไห?อำเภอบางบาล และโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ดังนี้ 1) สำรวจ ประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้ของประชาชนในชุมชน 2) สนับสนุนทีม SEhRT ระดับจังหวัด โดยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคและชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดการสิ่งปฏิกูล ได้แก่ ชุดเราสะอาด (V-Clean) จำนวน 40 ชุด ชุดดูแลสุขอนามัย (Sanitation toolkit) 50 ชุด ชุดยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 300 ชุด และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น ได้แก่ รองเท้าบูท เสื้อชูชีพ ให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชน และ 3) สื่อสารให้ความรู้คำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัยที่ดี ด้วย 5 วิธีปฏิบัติตนดูแลสุขอนามัยในช่วงน้ำท่วม ดังนี้ 1) กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด โดยหมั่นสังเกตอาหารที่มาบริจาคและน้ำดื่มทุกครั้ง 2) กรณีห้องส้วมใช้งานไม่ได้ให้ใช้ส้วมฉุกเฉิน เช่น ส้วมกระดาษแทนได้ โดยขับถ่ายใส่ในถุงดำ โรยปูนขาว มัดปากถุงให้แน่น รวบรวมเก็บไว้แล้วรอนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ เสี่ยงน้ำเน่าเสียและเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค 3) หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ เสี่ยงเชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกาย หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูทกันน้ำ และหลังเดินลุยน้ำ ต้องล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง 4) ป้องกันสัตว์และแมลงนำโรคเข้าในบ้าน เช่น นอนกางมุ้งป้องกันยุง จัดบ้านเป็นระเบียบป้องกันสัตว์มีพิษเข้ามาอาศัยในบ้าน และ 5) มีพฤติกรรมสุขอนามัยที่ดี ป้องกันโรค ด้วยการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์หากไม่มีน้ำสะอาด และสวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรคในช่วงน้ำท่วม

          “ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมอาจเกิดได้ในอีกหลายจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม จะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบทางสุขภาพได้ กรมอนามัยจึงมอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัย ร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์ พร้อมลงพื้นที่ให้ความรู้ สาธิตการใช้ชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดทดสอบภาคสนามเบื้องต้นให้แก่ประชาชน พร้อมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมแก่หน่วยงานในพื้นที่สำหรับใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 7 กันยายน 2567



   
   


View 176    07/09/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย