นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มะเร็งตับเกิดจากการกลายพันธุ์
และการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ตับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของตับมาก่อน โดยเฉพาะผู้ป่วย
ที่เป็นโรคตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การดื่มสุรา หรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี หรือภาวะไขมันพอกตับ
อย่างไรก็ดีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือไขมันพอกตับ อาจเกิดมะเร็งตับได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมี
ภาวะตับแข็งนำมาก่อน จากข้อมูลมะเร็งในภาคใต้ปีงบประมาณ 2564-2566 พบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบมากใน 10 อันดับแรกของภาคใต้ และเนื่องจากโรคมะเร็งตับมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรกแต่จะแสดงอาการในระยะกลาง-ระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง แต่หากได้รับการวินิจฉัยโรคและรับการดูแลตั้งแต่อาการระยะแรกๆจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยลดความรุนแรงของอาการและเพิ่มโอกาสการหายขาดได้

แพทย์หญิงนิธิมา ศรีเกตุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งตับพบมาก
ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
ประมาณ 2 เท่า โดยมักพบในกลุ่มอายุ 30 -70 ปี สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่สัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี ผู้ป่วยตับแข็ง และผู้ที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์จัด นอกจากนี้ยังพบว่าสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่มีอันตรายมากชนิดหนึ่งที่มาจากเชื้อรา มักพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารจำพวกถั่วลิสงแห้ง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว เมล็ดฝ้าย ข้าวฟ่าง และมันสำปะหลัง เป็นต้น ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ด้วยเช่นกัน หากมีอาการบ่งชี้ของโรคมะเร็งตับ เช่น คลำพบก้อนบริเวณชายโครงด้านขวา มีอาการปวดท้อง
ใต้ชายโครงขวา ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องโตขึ้น เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบีให้กับเด็กตั้งแต่แรกคลอด แต่สำหรับประชาชนที่เกิดก่อน
ปีพ.ศ. 2535 ที่ยังไม่มีการผลิตวัคซีนดังกล่าว สามารถไปรับการเจาะเลือดเพี่อคัดกรองไวรัสตับอักเสบชนิดบีและชนิดซีได้ฟรี
ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตามนโยบายมะเร็งครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อค้นหาและรักษาภาวะตับอักเสบ
ก่อนที่จะลุกลามเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ

นายแพทย์อรรถวิทย์ พานิชกุล แพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี
กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับที่เข้ามารับการรักษามักมาด้วยอาการที่รุนแรงหรืออาจจะลุกลามไประยะสุดท้าย ซึ่งมีความยากที่จะรักษาให้หายขาดและอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ แนะนำให้ตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง
ตรวจก่อน รักษาก่อน มีโอกาสหายขาดได้” อย่างไรก็ตามการป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุด  เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบ
ในประชาชนที่ยังไม่เคยรับวัคซีนและยังไม่มีภูมิคุ้มกัน การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบและสารบ่งชี้มะเร็งตับในประชาชน
กลุ่มเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ในประชาชนกลุ่มเสี่ยงอาจจะต้องมีการตรวจอัลตร้าซาวด์ตับทุก 6 เดือน ตามข้อวินิจฉัยของแพทย์  การดูแลตนเองด้วย
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม การรับประทานผัก ผลไม้
การออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ
ลดหุ่น ลดพุง รวมถึงการหลีกเลี่ยงการดื่มแอลออฮอล์และสูบบุหรี่ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งตับแล้ว ยังช่วยเป็นเกราะป้องกันให้ห่างไกลจากโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน

#ทำดีที่สุดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย #กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี #SCH #มะเร็งตับ

-ขอขอบคุณ- 13 สิงหาคม 2567



   


View 142    14/08/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์