สาธารณสุข เปิดบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 พร้อมกันในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ วันแรกวันนี้(11 มกราคม 2553)ใน 5กลุ่มเสี่ยง1,969,750 คน ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน ผู้พิการรุนแรงที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอายุ 6 เดือน -64 ปี กำชับทุกแห่งให้ฉีดด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ เตรียมพร้อมระบบการช่วยเหลือทันท่วงที
วันนี้(11 มกราคม 2553) ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคและคณะ เปิดรณรงค์ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้กลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน ผู้พิการรุนแรงที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอายุ 6 เดือน -64 ปีที่ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศ โดยในวันนี้มีผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จำนวน 50 คน
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ในวันนี้เป็นวันแรกที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ล้านโดส ผลิตจากบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส มูลค่า 600 ล้านบาท ราคาโดสละ 300 บาท โดยเริ่มให้ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อน 5 กลุ่มทั่วประเทศทั้งหมด 1,969,750 คน ได้แก่ กลุ่มแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าดูแลผู้ป่วย 371,424 คน หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน 500,915 คน คนอ้วนน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม 187,384 คน ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 72,132 คน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อายุ 6 เดือน 64 ปี ที่เป็น 9 โรคดังนี้คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจทุกประเภท หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด โรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนและไม่มีโรคแทรกซ้อน รวม 842,895 คน การฉีดจะมีไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2553
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าวัคซีนจะมีความปลอดภัยสูง แต่เนื่องจากฉีดให้กับประชาชนผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังจำนวนมากถึงร้อยละ 43 จึงได้กำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศที่ให้บริการฉีด ใช้ความระมัดระวังอย่างสูงสุดในการฉีด โดยให้จัดเตรียมระบบการช่วยเหลือผู้รับบริการฉีด ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ กรณีที่อาจพบผู้แพ้วัคซีนหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แม้พบได้น้อยมาก แต่ให้ทุกแห่งเตรียมพร้อมและซักซ้อมทำความเข้าใจเป็นอย่างดี
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกลุ่มผู้ใหญ่ จะฉีดวัคเข้ากล้ามเนื้อฉีดจำนวน 0.5 ซีซี 1 ครั้งที่บริเวณต้นแขน ในกลุ่มเด็กเล็กจะฉีดที่หน้าขา โดยเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี จะฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ฉีด 0.25 ซีซี และร่างกายจะกระตุ้นภูมิต้านโรคหลังฉีด 15 วัน โดยประชาชนที่จะรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ต้องปฏิบัติดังนี้ 1. สำรวจตนเองว่าอยู่ในกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ 2.สำรวจตนเองว่ามีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนหรือไม่ โดยผู้ที่ห้ามฉีดได้แก่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ที่แพ้ไข่หรือสารเคมีอื่นที่อยู่ในวัคซีน รวมทั้งผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้รุนแรง หากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะฉีดวัคซีน มีไข้ หรือมีอาการเจ็บป่วย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ หรือจนกว่าจะคุมอาการโรคประจำตัวได้คงที่
3.รับรู้ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพราะวัคซีนแม้จะมีการรับรองคุณภาพ ความปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ทั้งไม่รุนแรง เช่น ปวดบวมบริเวณที่ฉีด มีไข้หรือภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น อาการทางระบบประสาท อาการขาอ่อนแรง ภาวะช็อคหมดสติ ซึ่งภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ ดังนั้นผู้ฉีดวัคซีนทุกคนต้องรับทราบ เพื่อสังเกตอาการตนเองและแจ้งให้แพทย์ หรือผู้เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที 4.ผู้ที่จะฉีดต้องสมัครใจรับและลงชื่อเข้ารับวัคซีน 5.รับการฉีดวัคซีน 6.หลังฉีดวัคซีนให้นั่งพักที่โรงพยาบาล 30 นาที เพื่อสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากอาการแทรกซ้อนรุนแรงมักเกิดขึ้นหลังฉีดภายใน 30 นาที อาการที่ต้องสังเกตได้แก่ คันที่ผิวหนัง บวมตามปาก หน้า ลำคอ หายใจลำบาก ชีพจรเบา ช็อค วิงเวียน ใจสั่น เป็นลม เหงื่อออก และเมื่อกลับไปอยู่บ้านแล้วควรมีผู้ดูแลหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 วัน และ6.ก่อนกลับบ้านต้องตรวจสอบสถานที่และวิธีติดต่อโรงพยาบาล หากเกิดอาการไม่ปกติ เพื่อที่จะได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที
ด้านนายแพทย์สมชาย เทพเจริญนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ในวันนี้ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้นัดกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 50 คน ก่อนฉีดทุกคนจะได้รับคำแนะนำ ลงชื่อในใบยินยอมฉีดวัคซีน และผ่านการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน ได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ พร้อมให้การดูแลผู้ป่วยกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยกลุ่มเสี่ยงในความรับผิดชอบโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มีทั้งหมด 12,300 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ด่านหน้าทั้งในโรงพยาบาลและสถานีอนามัย 1,800 คน หญิงตั้งครรภ์ 3,000 คน คนอ้วนผู้พิการ ป่วยโรคเรื้อรัง รวม 7,500 คน ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ให้เจ้าหน้าที่ นัดหมายทั้งทางโทรศัพท์ ทางจดหมายเรียบร้อยแล้ว ตั้งเป้าทยอยให้บริการวันละ ประมาณ 200 คน
ทั้งนี้จังหวัดนนทบุรี ได้รับการจัดสรรวัคซีนไข้หวัดใหญ่2009 จำนวน 5,536 ขวด มีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับวัคซีน 55,360 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ด่านหน้า 8,252 คน หญิงตั้งครรภ์ 9,994 คน คนอ้วน 1,004 คน ผู้พิการ 4,102 คน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 32,008 คน
*************************************************** 11 มกราคม 2553
View 14
11/01/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ