ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่ดื่มฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ อาจอดนอนข้ามปี ทำให้ง่วง เสี่ยงอันตรายหากขับรถ เพราะสภาพร่างกายหลังง่วงไม่ต่างจากคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต หากโดนฤทธิ์แอลกอฮอล์เสริมด้วย จะออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้ง่วงนอนหนักไปอีก ผลวิจัยในต่างประเทศ พบว่าถ้าอดนอน 24 ชั่วโมงประสิทธิภาพการทำงานร่างกายจะเท่ากับคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผลปฏิบัติงานหน่วยแพทย์ฉุกเฉินในรอบ 2 วัน รถหวอออกช่วยเหลือทุกครึ่งนาที วันนี้ (31 ธันวาคม 2552) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการรับมือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2553 ที่โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี ว่า ในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด โดยในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 มีผู้บาดเจ็บ 960 ราย เสียชีวิต 87 ราย ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง ให้เสริมกำลังแพทย์ พยาบาล เพิ่มที่ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู เพิ่มอีก 1-2 เท่าตัว สำรองเตียงในหอผู้ป่วยอุบัติเหตุและศัลยกรรมเพิ่มอีกร้อยละ 10 และคลังเลือดครบทุกหมู่ เพื่อให้เพียงพอต่อการให้ความช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ เพื่อลดการเสียชีวิตให้ไม่เกินร้อยละ 2 ตามเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ประการสำคัญในวันนี้เป็นวันส่งท้ายปีเก่าและรับปีใหม่ จะมีการดื่มเฉลิมฉลองกันมาก อาจส่งผลให้การพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการง่วงนอน ซึ่งหากไปขับขี่อาจหลับในอย่างไม่รู้ตัว และไม่สามารถบังคับได้ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น การหลับในทำให้สมองหลับไปแวบหนึ่ง สภาพจึงเสมือนกับคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต หรือหมดสติไปช่วงหนึ่ง บางครั้งอาจเกิดร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุที่เกิดจากการหลับในมักเกิดในช่วงเวลาดึก มีความรุนแรงสูง ขับมาคันเดียว หรือขับคนเดียว บนถนนไฮเวย์ ถนนโล่ง หรือทางยาว ทั้งนี้ ผลการวิจัยของประเทศออสเตรเลียพบว่า คนที่อดนอนติดต่อ 18 ชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายจะลดลงเท่ากับคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากอดนอนติดต่อกัน 24 ชั่วโมงจะเท่ากับคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ “ขอย้ำเตือนให้ประชาชนที่จะต้องขับขี่รถ ให้พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง หากนอนน้อยกว่านี้จะเกิดการอดนอนและเป็นหนี้การนอนสะสมไปเรื่อย ๆ ต้องชดใช้ด้วยการนอนหลับเท่านั้น โดยสัญญาณอันตรายที่ผู้ขับรถที่เกิดอาการง่วง มี 8 ข้อ คือ 1.หาวนอนบ่อย 2.ใจลอยไม่มีสมาธิ 3.หงุดหงิดกระวนกระวาย 4.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2-3 กิโลเมตร 5.ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นภาพไม่ชัด 6.มึนศีรษะ 7.ขับรถส่ายหรือออกนอกเส้นทาง และ8.มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร โดยช่วงเวลาที่จะง่วงนอนและเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยคือหลังเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า” นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวอีกว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ในรอบ 2 วัน ตั้งแต่ 29-30 ธันวาคม 2552 ปฏิบัติการทั้งหมด 6,898 ครั้ง เฉลี่ยออกปฏิบัติการทุกครึ่งนาที ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บหนัก 1,029 ครั้ง เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด 2,466 ครั้ง ป่วยฉุกเฉิน 3,395 ครั้ง โดยแจ้งผ่าน 1669 รวม 3,513 ครั้ง เฉพาะที่โรงพยาบาลสระบุรี มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษา 97 ราย ต้องนอนโรงพยาบาล 16 รายส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และเมาสุราประมาณร้อยละ 40-50 *********************** 31 ธันวาคม 2552


   
   


View 9    31/12/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ