กระทรวงสาธารณสุข รุกสร้างความเข้มแข็งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว พร้อมรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เช่น การระบาดของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ระดับประเทศ และเป็นเครือข่ายโลก ขณะนี้ทั่วประเทศมีทั้งหมด 1,091 ทีม มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ปี 2553 จะผลิตเพิ่มอีก 30 ทีม วันนี้ (18 ธันวาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบประกาศนียบัตร และปิดการอบรมหลักสูตรระบาดวิทยาและการบริหารคุณภาพ สำหรับแพทย์หัว หน้าทีมและผู้สอบสวนหลักทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ประจำปี 2552 ซึ่งเป็นรุ่นที่ 5 จำนวน 23 ทีม นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ รวมถึงภัยธรรมชาติและภัยจากสารเคมีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง จากประสบการณ์ในอดีตพบว่าโรคติดเชื้อหลาย ๆ โรค สามารถระบาดข้ามจังหวัดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ในยุคที่การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระยะ 6-7 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค โดยมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว เป็นกลไกทำหน้าที่หลักและประสานกับหน่วยงานกระทรวงอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ของโรคได้ผลในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งผลงานเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคของไทยที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติว่าเข้มแข็ง นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันไทยมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว 1,091 ทีม โดยอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 1,030 ทีม และสังกัดกทม. 61 ทีม ในปี 2553 ตั้งเป้าอบรมพัฒนาอีก 30 ทีม ตั้งเป้าจะให้มีทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ เพื่อเป็นกลไกในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข รวมทั้งในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ เพื่อร่วมกันตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินในวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านนายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า การอบรมหลักสูตรระบาดวิทยาและการบริหารคุณภาพสำหรับแพทย์หัวหน้าทีมและผู้สอบสวนหลักทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ประจำปี 2552 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข จำนวน 2,380,000 บาท เป็นหลักสูตรระยะสั้น 6 เดือน มีแพทย์เป็นหัวหน้าทีมและมีนักวิชาการเป็นผู้สอบสวนหลัก ผู้ที่เข้ารับการอบรมครั้งนี้ มี 23 ทีม จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคระดับเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ภาสกร กล่าวต่อว่า การอบรมจะใช้หลักสูตรการอบรมทั้งภาคทฤษฏีและการปฏิบัติจริงภาค สนาม ที่เรียกว่า ออน เดอะ จ๊อบ เทรนนิ่ง (On-the-job Training) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้ทั้งแบบกลุ่มและแบบตัวต่อตัวจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่างๆ ได้อย่างละเอียดโดยตรง และผู้เข้ารับการอบรมได้ฝึกเรียนรู้ในสถานการณ์จริง ทำให้เข้าใจถึงกระบวนการและขั้นตอนต่างๆส่งผลให้ได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างละเอียด และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้เลย ******************************* 18 ธันวาคม 2552


   
   


View 9    18/12/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ