สาธารณสุขตั้งกรรมการดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงเป็นการด่วน กรณีเด็กพิการ หลังฝากครรภ์และคลอดที่โรงพยาบาลราชวิถี พร้อมประสานราชวิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์เข้าเป็นกรรมการ เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย และมอบหมายให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ดูแลต่อเนื่องทั้งด้านสุขภาพและการส่งเสริมพัฒนาการ เบื้องต้น พบว่า แม่มีโรคลิ่มเลือดอุดตันที่ขาซ้าย แพทย์จำเป็นต้องให้ยาสลายลิ่มเลือดต่อเนื่อง เพื่อป้องกันลิ่มเลือดไปอุดตันอวัยวะสำคัญเช่น สมอง ปอด และเด็กทารกในครรภ์อายุเกิน 3 เดือน อวัยวะทุกอย่างพัฒนาสมบูรณ์แล้ว ส่วนเหตุที่ทารกมีศีรษะโตและมีน้ำในสมองมากเป็นเหตุสุดวิสัยและไม่สามารถป้องกันได้ จากกรณีที่สื่อมวลชนเสนอข่าว นส.ภิญญามาศ โยธี มารดาเด็กชายเชาวรินทร์ อ่องประเสริฐ หรือน้องแชมป์ อายุ 1 ปี 5 เดือน เข้าแจ้งความที่ สน.พญาไท ให้ดำเนินคดีกับแพทย์ประจำโรงพยาบาลราชวิถี ฐานประมาทในการรักษาพยาบาลจนทำให้บุตรชายพิการตลอดชีวิต โดยก่อนหน้านี้เข้าร้องเรียนที่แพทยสภาและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้า วันนี้(17 ธันวาคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้บริหารกรมการแพทย์และโรงพยาบาลราชวิถี ตั้งกรรมการดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงเป็นการด่วน พร้อมประสานราชวิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์เข้าเป็นกรรมการ เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย และมอบหมายให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ดูแลเด็กต่อเนื่องทั้งด้านสุขภาพและการกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการ ด้านแพทย์หญิงวันดี โภคะกุล ที่ปรึกษากรมปรึกษากรมการแพทย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รพ.ราชวิถีได้ดูแล นส.ภิญญามาศ โยธี ก่อนคลอดมาตลอดและรายนี้มีโรคมาก่อนตั้งครรภ์ โดยฝากครรภ์ที่รพ.ราชวิถี เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2551 อายุครรภ์ประมาณ 18 สัปดาห์ มีประวัติเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันที่ขาซ้าย รักษาตัวที่รพ.มิชชั่น ตั้งแต่ปี 2549 โดยกินยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน(warfarin)ประมาณ 4 เดือน แล้วหยุดกินยาเองไม่ไปพบแพทย์ตามนัด ต่อมาเดือนมกราคม 2551 พบว่าตนเองตั้งครรภ์ จึงไปรพ.มิชชั่นอีกครั้งแพทย์ตรวจพบว่ามีการขาดโปรตีน ซีและเอส ซึ่งทำให้การแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ จึงส่งมารักษาที่ รพ.ราชวิถี แพทย์รพ.ราชวิถีได้ตรวจเลือดดูภาวะลิ่มเลือดอุดตันพบว่ามีค่าสูงผิดปกติ แพทย์ รพ.มิชชั่นได้ตรวจทางอัลตราซาวด์ที่ขา 2 ข้าง พบว่ามีภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดเรื้อรังที่หลอดเลือดดำที่ขาข้างซ้าย ซึ่งผู้ป่วยรายนี้มีภาวะเสี่ยงสูงทั้งจากการป่วยซ้ำด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันและผลจากการตั้งครรภ์จะทำให้เกิดลิ่มเลือดมากขึ้น และมีโอกาสอุดตันตามอวัยวะสำคัญโดยเฉพาะที่สมอง หรือปอด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ทันที ประกอบกับอายุครรภ์ผู้ป่วยเกิน 12 สัปดาห์แล้ว ซึ่งเด็กพัฒนาอวัยวะครบแล้ว โอกาสทารกเกิดความผิดปกติ จากยาละลายลิ่มเลือดมีน้อย จึงได้พิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน 3 มิลลิกรัมต่อวัน โดยวางแผนให้ยาอย่างน้อย 6 เดือน-1ปี จึงจะหยุดยาและหาสาเหตุการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งแพทย์ได้แนะนำกับผู้ป่วยทางวาจา ว่าอาจพบภาวะแทรกซ้อนของการให้ยาสลายลิ่มเลือด คืออาจเกิดเลือดออกผิดปกติทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ ผู้ป่วยมาติดตามการรักษาและมาฝากครรภ์ตามนัดทุกครั้ง ไม่พบภาวะแทรกซ้อน เมื่ออายุครรภ์ 26 สัปดาห์ได้ตรวจอัลตราซาวด์ พบเด็กเจริญเติบโตดี และปรับยาเพิ่มยาเนื่องจากค่าการแข็งตัวของเลือดยังไม่ได้ระดับที่จะป้องกันการแข็งตัวของเลือดได้ หลังจากนั้นเมื่ออายุครรภ์ 30 สัปดาห์ แพทย์ตรวจอัลตราซาวด์ พบทารกมีน้ำในสมองและศีรษะโต ซึ่งเกิดแบบเฉียบพลันเพราะก่อนหน้านั้น 1 เดือนผลตรวจยังปกติอยู่ จึงสันนิษฐานว่าอาจมีเลือดออกในสมองทารก และเจาะเลือดผู้ป่วยพบค่าการแข็งตัวของเลือดยาว แพทย์จึงสั่งให้หยุดยา เพื่อปรับการรักษาใหม่ และให้คำปรึกษาแก่มารดาถึงภาวะผิดปกติของเด็กที่เกิดขึ้น การดำเนินของโรคและการพยากรณ์โรค ว่าอาจมีปัญหาเรื่องพัฒนาการของสมอง เนื่องจากเนื้อสมองเหลือน้อย แต่เนื่องจากอายุครรภ์มาก ไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากทารกเลี้ยงรอด แพทย์จึงเห็นว่าควรรอให้ครบกำหนดคลอด ก่อนจะพิจารณาให้การช่วยเหลือต่อไป เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์แพทย์ได้เปลี่ยนยาจากวาร์ฟารินมาเป็น เฮปาริน(Heparin) เช้า-เย็น เพื่อให้การควบคุมปริมาณยาในเลือดง่ายขึ้น และนัดผ่าตัดคลอดเมื่ออายุครรภ์ 38 สัปดาห์ เมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2551 ทารกเป็นเพศชาย หนัก 2,515 กรัม หลังคลอด 2 ชั่วโมง เด็กมีอาการชัก ได้ย้ายเด็กไปรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี ได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจในระยะแรกๆ หลังจากถอดเครื่องช่วยหายใจ แพทย์ได้อัตราซาวด์สมอง เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง พบเด็กมีเลือดออกในสมองและเนื้อสมองบางมาก ศีรษะเด็กหลังคลอดไม่โต มีอาการชักเป็นระยะ ได้รับยากันชัก แพทย์หญิงวันดี กล่าวอีกว่า สำหรับการที่ทารกมีศีรษะโต และมีน้ำในสมองมาก ซึ่งสงสัยว่าเป็นจากเลือดออกในสมองนั้น ในทางการแพทย์จัดว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม บ่ายวันนี้(17 ธันวาคม 2552) โรงพยาบาลราชวิถี จะเชิญผู้เกี่ยวข้อง สูติ-นรีแพทย์ กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์มาหารือ สืบสวนหาสาเหตุและข้อเท็จจริงต่อไป *************************** 17 ธันวาคม 2552


   
   


View 10    17/12/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ