สาธารณสุข เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วย ยึดหลักให้บริการตามมาตรฐานการพยาบาล และมาตรฐานจริยธรรม เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ หลังพบปัญหาเรื่องร้องเรียนกว่า 300 เรื่อง ส่วนใหญ่เกิดจากสื่อสารน้อย เพราะต้องทำงานหนัก ดูแลผู้ป่วยเฉลี่ยคนละเกือบ 2,000 ครั้งต่อปี วันนี้ (17 ธันวาคม 2552) ที่อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการทางพยาบาลเรื่อง “จากใจสู่ใจ : หัวใจของการพยาบาล” จัดโดยสมาคมศิษย์วิทยาพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2552 เพื่อเพิ่มคุณภาพการพยาบาลดูแลผู้เจ็บป่วยมีพยาบาลทั้งภาครัฐ เอกชน เข้าร่วมประชุมจำนวน 400 คน นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า พยาบาลเป็นบุคลากรกลุ่มใหญ่ที่สุด ในระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานสาธารณสุข รวมทั้งเป็นด่านหน้าในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้รับบริการ ข้อมูลจากสภาการพยาบาลปี 2552 มีพยาบาลขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ทั้งหมด 155,697 คน ในจำนวนนี้ทำงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 81,610 คน ซึ่งยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อคิดตามความต้องการพยาบาลตามเกณฑ์ภูมิศาสตร์สารสนเทศ พบว่า กระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีพยาบาล 113,016 คน โดยในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2553-2555 กระทรวงสาธารณสุขได้ทำแผนผลิตพยาบาลเพิ่มอีก 8,500 คน นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในขณะที่พยาบาลมีจำกัด แต่จำนวนผู้ป่วยผู้มารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขมีมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดปี 2551 มีผู้เข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศกว่า 140 ล้านครั้ง เฉลี่ยแล้วพยาบาล 1 คน ดูแลให้การพยาบาลผู้ป่วยคนละ 1,715 ครั้ง โดยมีผู้ป่วยนอนพักรักษาในโรงพยาบาล 9.4 ล้านคน ทำให้พยาบาลต้องทำงานหนัก การสื่อสารกับผู้ป่วยน้อยลง ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความไม่ไว้วางใจ ไม่พึงพอใจในบริการที่ได้รับ ทำให้เกิดการร้องเรียนบริการตามมา กระทบต่อขวัญกำลังใจคนทำงาน นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปอีกว่า ในการคลี่คลายเบื้องต้น นอกจากจะเพิ่มจำนวนพยาบาลเข้าในระบบแล้ว ยังได้มอบหมายสำนักการพยาบาล เร่งดำเนินการฟื้นฟูสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ให้กับผู้รับบริการ โดยนอกจากจะให้การพยาบาลดูแลตามมาตรฐานแล้ว ยังต้องมีจริยธรรมในวิชาชีพ เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ดูแลผู้ป่วยทั้งใจและกายอย่างสม่ำเสมอ ให้ข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยและญาติให้เข้าใจ ซึ่งจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการดีขึ้น สร้างความมั่นใจ ศรัทธาในระบบบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ ในรอบ 12 ปีมานี้ มีเรื่องร้องเรียนในด้านการรักษาพยาบาลกว่า 300 เรื่อง ส่วนใหญ่มักมีปัญหามาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน โดยมีคดีที่กระทรวงสาธารณสุขถูกฟ้องร้องตกเป็นจำเลยรวม 98 คดี เป็นคดีแพ่ง 86 คดี คดีอาญา 12 คดี ซึ่งสาเหตุที่ฟ้องมากที่สุด ได้แก่ รักษาผิดพลาดไม่ได้มาตรฐาน 38 เรื่อง ทำคลอด 18 เรื่อง และวินิจฉัยผิดพลาด 12 เรื่อง และแนวโน้มการฟ้องจะสูงขึ้นหากไม่รีบแก้ไข ********************************** 17 ธันวาคม 2552


   
   


View 11    17/12/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ