กระทรวงสาธารณสุข ยันคนไทยไม่ต้องกังวลวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ล้านโด๊สที่ไทยจะใช้ฉีดป้องกัน เพราะนำเข้าจากฝรั่งเศส ไม่ใช่อเมริกา มีความปลอดภัย และมีระบบควบคุมประสิทธิภาพเข้มงวด โดยในสัปดาห์นี้พร้อมคลอดคำแนะนำการฉีดวัคซีน แก่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องฉีด จากกรณีที่มีข่าวสหรัฐอเมริกาเรียกคืนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 สำหรับเด็กอายุ 6-35 เดือน ที่ผลิตจากบริษัทซาโนฟี่ ปาสเตอร์ เมื่อวานนี้ หลังจากที่ตรวจพบว่าวัคซีนดังกล่าว มีประสิทธิภาพการป้องกันโรคลดลง หลังการกระจายวัคซีน โดยย้ำว่าวัคซีนดังกล่าวไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย เพราะผ่านการตรวจสอบความสะอาด ปลอดภัยแล้วทุกโด๊ส ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอเมริกายังไม่สรุปสาเหตุของการเสื่อมประสิทธิภาพของวัคซีน ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เมื่อเช้าวันนี้ (16 ธันวาคม 2552) ว่า จากข่าวดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่อเมริกาใช้ กับวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อมาจากบริษัทซาโนฟี ปาสเตอร์ เหมือนกัน แต่ผลิตคนละแห่ง ของไทยผลิตที่ประเทศฝรั่งเศส ส่วนอเมริกาใช้ผลิตที่อเมริกา ซึ่งการผลิตทั้ง 2 แห่ง ไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย แต่เกิดปัญหาภายหลังการกระจายวัคซีน ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม บริษัทซาโนฟี่ ปาสเตอร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดในเรื่องการจัดเก็บ การกระจายและการขนส่งให้ได้ตามมาตรฐาน จึงขอให้ประชาชนไทยไม่ต้องกังวล กับประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งไทยจะเริ่มฉีดในวันที่ 11 มกราคม 2553 ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบการขนส่งการเก็บรักษา การใช้วัคซีนที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ต้องเก็บรักษาในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ออกเอกสารขั้นตอนการปฏิบัติการฉีดวัคซีน สำหรับโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีด คาดจะเสร็จภายในสัปดาห์นี้ นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ในการฉีดวัคซีนครั้งนี้ ตั้งเป้าครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 โดยจะฉีดให้ 5 กลุ่มตามลำดับ ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขที่เสี่ยงติดโรคจากผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป คนอ้วนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม ผู้พิการรุนแรงที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ ผู้ที่อายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 64 ปีที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจทุกประเภท ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนและไม่มีโรคแทรกซ้อน ทั้งนี้ ขั้นตอนที่โรงพยาบาลต้องปฏิบัติในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 มี 7 ขั้นตอนประกอบด้วย 1. การสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่ต้องให้บริการ 2. การเตรียมพร้อมบุคลากรที่จะเป็นผู้ฉีด อุปกรณ์การฉีด สถานที่ฉีด การรายงานและระบบการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ 3.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบรับทราบ 4.ให้รายงานยอดวัคซีนคงคลังและมีระบบจัดเก็บเป็นไปตามมาตรฐาน 5.เริ่มให้บริการฉีดตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม -31 มีนาคม 2553 6 .ให้รายงานผลการฉีดทุกวันพฤหัส และ 7.ให้มีระบบการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์และแก้ไขปัญหาทันท่วงที สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลหรือกลุ่มเสี่ยงใหม่ เช่นผู้ที่เพิ่งทราบว่าตั้งครรภ์ใหม่ ขอให้แจ้งชื่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ************************************ 16 ธันวาคม 2552


   
   


View 10    16/12/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ