สาธารณสุข เผยผลการตรวจอาหารทะเลสด และแห้งและน้ำจากบ่อน้ำตื้นที่แหลมฉบัง ปลอดภัย ไม่พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซต์ ประชาชนสามารถบริโภคได้อย่างมั่นใจ สรุปยอดผู้ตรวจรักษาในโรงพยาบาล 133 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาล 30 ราย เสียชีวิต 1 ราย คงเหลือนอนในโรงพยาบาล 4 ราย มีผู้ป่วยที่ต้องติดตามเยียวยาทางด้านจิตใจต่อเนื่องทุกสัปดาห์จำนวน 3 ราย วันนี้ (3 ธันวาคม 2552) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีสารเคมีรั่วไหลบริเวณท่าเรือ B3 แหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ว่าหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เก็บตัวอย่างอาหารทะเลทั้งสด และแห้ง ที่แหลมฉบังส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารซัลเฟอร์ไดออกไซต์ ผลการตรวจตัวอย่างอาหาร โดยใช้ชุดทดสอบสารซัลไฟล์ จำนวน 14 ตัวอย่าง อาหารทะเลสดและแห้ง ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา ไม่พบสารซัลไฟล์ ส่วนผลการตรวจวิเคราะห์น้ำจากบ่อน้ำตื้นของกรมอนามัยไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ประชาชนสามารถบริโภคอาหารดังกล่าวได้อย่างมั่นใจ นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา อ.ศรีราชา ให้บริการดูแลประชานอย่างต่อเนื่อง สรุปยอดผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากสารเคมีรั่วไหลตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2552 รวม 7 วัน มีผู้มาตรวจรักษาในโรงพยาบาล 133 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยใน 30 ราย เสียชีวิต 1 ราย คงเหลือนอนรักษาในโรงพยาบาล 4 ราย ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพจิต จำนวน 637 ราย พบว่าต้องติดตามเยี่ยมบ้าน 38 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ติดตามเยี่ยมต่อเนื่องทุกสัปดาห์จำนวน 3 ราย ส่วนการตรวจสุขภาพพนักงานดับเพลิงท่าเรือ 69 รายอยู่ระหว่างรอผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ได้ทำแผนติดตามเยี่ยมบ้านทุกสัปดาห์ จนกว่าผู้ป่วยจะคลายความวิตกกังวล และเฝ้าระวังติดตามตรวจสุขภาพเมื่อครบ 1 เดือน นอกจากนี้ต้องเฝ้าระวังติดตามสุขภาพของพนักงานท่าเรือใกล้เคียง เช่น B2 และ B4 ด้วย ได้มอบให้โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จัดทำแผนรองรับอุบัติเหตุหมู่ร่วมกับชุมชนแหลมฉบัง และให้มีการซ้อมแผนในช่วงหลังปีใหม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการด้านความปลอดภัย เมื่อมีเหตุอุบัติภัย บริษัทต้องแจ้งให้เจ้าของพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีว่าเป็นสารเคมีชนิดใด และรายละเอียดการเกิดเหตุ เพื่อให้สามารถจัดการในภาวะฉุกเฉิน และแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงที ควรตั้งทีมเก็บกู้สารเคมี ในเขตของทุกนิคมอุตสาหกรรม และมีทีมผู้เชี่ยวชาญระดับจังหวัด เพื่อเข้าไปร่วมจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าว ****************************** 3 ธันวาคม 2552


   
   


View 12    03/12/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ