ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เฝ้าระวังการระบาดของโรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิด แนะผู้ปกครองหากพบเด็กมีตุ่มใสขึ้นที่ปาก มือ และเท้า ต้องพาไปพบแพทย์ โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนระดับประถมศึกษา ให้เข้มงวดเรื่องความสะอาด ทั้งอาหาร สิ่งของเรื่องใช้ ของเล่น และกำจัดสิ่งขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ
กรณีที่มีเด็กในศูนย์ฝึกอบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดชัยมงคล บ้านสำราญ ต.สำราญ อ.เมือง จ.ยโสธร ป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก 1 ราย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 ไปรักษาที่โรงพยาบาลยโสธรและกลับบ้านแล้ว โดยสำนักงานสาธารณสุขได้เข้าไปตรวจสอบ ดำเนินการควบคุมโรค และปิดศูนย์ฯดังกล่าวเป็นเวลา 5 วันนั้น
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล หรือโรงเรียนระดับประถมศึกษา โดยพบโรคมือเท้าปากประปรายตลอดปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 23 ธันวาคม 2549 ทั่วประเทศพบ 3,156 ราย เสียชีวิต 4 ราย
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคมือเท้าปากอย่างเข้มงวด และให้โรงพยาบาลทุกแห่งทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าระวัง ซักประวัติ ตรวจร่างกายเด็กอย่างละเอียด ในการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้การรักษาและดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังให้โรงเรียนทุกแห่งโดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ หมั่นตรวจเด็กทุกคนทุกวัน หากพบเด็กมีตุ่มใสขึ้นที่ปาก หรือขึ้นตามง่ามมือ นิ้วเท้า จะมีไข้หรือไม่มีก็ตาม ขอให้แยกเด็กและพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว และให้หยุดเรียน 7-10 วัน หรือจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่เด็กอื่น และให้เข้มงวดเรื่องความสะอาด ทั้งอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ ของเล่น และกำจัดสิ่งขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวอีกว่า โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัส มีหลายสายพันธุ์ มักพบในช่วงฤดูฝนต้นฤดูหนาว เชื้อก่อโรครุนแรงคือเอนเทอโรไวรัส โดยเด็กจะได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ซึ่งอาจกระจายออกมากับอุจจาระหรือสัมผัสกับละอองน้ำมูกน้ำลายของเด็กที่เป็นโรคนี้ ภายหลังจากเด็กได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 4-6 วัน จะมีไข้ อ่อนเพลีย ไม่กินนม เบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดศีรษะ จะมีตุ่มน้ำใสหรือแผลที่คอ ปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม ตุ่มน้ำใสจะมีขนาดเล็ก และจะขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ระยะตุ่มน้ำใสนี้เป็นระยะที่ติดต่อได้ง่ายที่สุด จะพบเชื้อไวรัสในตุ่มน้ำใสจำนวนมาก จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำใส เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาโดยตรง แพทย์จะรักษาตามอาการและเฝ้าระวังอาการที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เด็กอาจจะหายได้เองประมาณ 1 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนและรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้
ทางด้านนายแพทย์สุพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม 31 ธันวาคม 2549 จังหวัดยโสธรพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยโรคมือเท้าปาก 15 ราย ขณะนี้รอผลการตรวจยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และได้ให้สถานีอนามัยหรือศูนย์สุขภาพชุมชนที่พบผู้ป่วย ติดตามค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติมทั้งในโรงเรียนและชุมชน โดยทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กได้ดำเนินการล้างและทำความสะอาดภายในห้องเรียนหลังพบผู้ป่วย ตลอดจนต้มและนำเครื่องนุ่งห่ม ของเล่น ตากแดดฆ่าเชื้อโรคแล้ว และได้สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังทุกอำเภอ เพื่อประสานไปยังผู้ปกครองเด็กในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทุกคนทุกวัน
มกราคม3/10 ********************************** 14 มกราคม 2550
View 10
14/01/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ