สาธารณสุข พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ เป็นอันดับ 1 เฉลี่ยตาย 1 คนในทุกๆ 6 ชั่วโมง ปีละกว่า 1,500 คน กำหนดให้เสาร์แรกเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันการจมน้ำของเด็ก เพิ่มเกณฑ์ในสมุดบันทึกสุขภาพ เด็กอายุ 6 ปีต้องสามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้ เตรียมผลิตหนังสือหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดฉบับประชาชน และฉบับการ์ตูน บอกวิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำ และวิธีช่วยคนตกน้ำที่ถูกต้อง วันนี้(16 พฤศจิกายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นางประนอม จันทรภักดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันการจมน้ำในเด็ก เพื่อแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำ ประกอบด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชนฯ สถาบันการพลศึกษา สสส. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด และหน่วยงานต่างๆภายในกระทรวง เช่น กรมอนามัย กรมควบคุมโรค นางประนอม กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าการตกน้ำ จมน้ำ เป็นปัญหาการเสียชีวิตอันดับ 1 ในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เฉลี่ยปีละเกือบ 1,500 คน พบมากที่สุดในเด็กอายุ 5-9 ปี เฉลี่ยในทุก 6 ชั่วโมงจะมีเด็กจมน้ำตาย 1 คน สูงกว่าอุบัติเหตุจราจร 2 เท่า มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 5-15 เท่าตัว และมักจะเกิดช่วงปิดเทอม กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยมาตรการป้องกันปัญหาจมน้ำจะเพิ่มเกณฑ์ให้ผู้ปกครองส่งเสริมพัฒนาการลูกตามวัย ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ซึ่งเดิมจะมีเรื่องโภชนาการ และวัคซีนป้องกันโรค แต่จากนี้ไปจะเพิ่มเกณฑ์กำหนดให้เด็กอายุ 6 ปี ต้องสามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้ เพิ่มอีก 1 รายการ โดยให้สระว่ายน้ำกระทรวงสาธารณสุขเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับสอนเด็กว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และกำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันการจมน้ำของเด็ก ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำตายมาก เนื่องจากตรงกับช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ซึ่งตรงกับวันที่ 6 มีนาคม 2553 นางประนอม กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมกันจัดทำคู่มือประชาชนในการป้องกันการจมน้ำเผยแพร่ให้เด็กและประชาชนทั่วไป ให้รู้จักวิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำและวิธีการช่วยชีวิตคนที่ตกน้ำที่ถูกต้อง และจัดทำข้อแนะนำผู้ปกครอง ในการดูแลเด็กให้ปลอดภัยจากแหล่งน้ำเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ แหล่งน้ำในบ้าน รอบๆบ้าน สระว่ายน้ำ บ่อน้ำ ลำคลอง แม่น้ำ เขื่อน น้ำตก ชายหาด ข้อแนะนำการช่วยเหลือคนตกน้ำเป็นฉบับการ์ตูนด้วย คาดว่าจะเสร็จในปลายปีนี้ และจะแจกประชาชนทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2553 ทั้งนี้ คู่มือประชาชนป้องกันการจมน้ำ ประกอบด้วย สถานการณ์เรื่องการตกน้ำ จมน้ำของเด็กในประเทศไทย การว่ายน้ำ เพื่อเอาชีวิตรอดคืออะไร หลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ระยะเวลาในการเรียน เนื้อหาการเรียน ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ การเอาชีวิตรอดและพื้นฐานการว่ายน้ำ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ************************************* 16 พฤศจิกายน 2552


   
   


View 18    16/11/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ