กระทรวงสาธารณสุข ตั้งศูนย์สาธิตการแพทย์แผนไทยและแสดงผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเด่นๆ ตามภูมิภาค ในปี 2553 จำนวน 12 แห่ง เป็นโชว์รูมประเทศเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและต่างชาติ ใช้งบประมาณ 17 ล้านบาท จากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เผยขณะนี้ คลินิกนวดไทย ยาสมุนไพร และสปาเพื่อสุขภาพของสถานพยาบาลกว่า 2,500 แห่งในสังกัด ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น บ่ายวันนี้ (11 พฤศจิกายน 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังพาสื่อมวลชนส่วนกลาง เยี่ยมชมการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนให้สถานพยาบาลในสังกัดทุกระดับ เปิดคลินิกบริการการแพทย์แผนไทย เช่นนวดไทย การอบ การประคบสมุนไพร สปาไทย และใช้ยาสมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วย และพัฒนาแปรรูปสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆเช่น ชาสมุนไพร เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม จนถึงขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้ว 2,500 แห่ง และกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ผลการสำรวจจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน 2550 มีผู้ใช้บริการการแพทย์แผนไทย 2 ล้านกว่าราย มากที่สุดได้แก่ การนวดเพื่อรักษา รองลงมาได้แก่ การรักษาด้วยยาสมุนไพร การอบประคบสมุนไพร การนวดส่งเสริมสุขภาพ และการดูแลหลังคลอดบุตร ส่วนการใช้ยาสมุนไพรไทยของสถานีอนามัย 1,651 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2551 – 30 มิถุนายน 2552 พบว่า มีการใช้ยาสมุนไพรทั้งในบัญชียาหลักแห่งชาติ 19 รายการและยานอกบัญชียาหลัก มูลค่า 97 ล้านกว่าบาท นายมานิตกล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2553 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ โดยจะตั้งศูนย์สาธิตการแพทย์แผนไทยและแสดงผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย จำนวน 12 แห่งทั่วประเทศ ใช้งบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 17 ล้านบาท เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและต่างชาติให้มากขึ้น และให้เป็นศูนย์ต้นแบบในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการแพทย์แผนไทยในแต่ละภูมิภาค คาดว่าต่อจากนี้ไป เมื่อนักท่องเที่ยวมาประเทศไทย จะต้องรู้จักสมุนไพรเด่นๆของประเทศ หรือนวดไทยที่เป็นเอกลักษณ์ไม่มีใครเหมือน ทางด้านแพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า ศูนย์สาธิตฯ 12 แห่ง ในปีนี้เปิดบริการแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ รพ.ระนอง รพ.หลวงพ่อเปิ่น จ.นครปฐม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี รพ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จะเปิดดำเนินการอีก 8 แห่งในปี 2553 ได้แก่ ที่สถาบันการแพทย์แผนไทย จ.นนทบุรี สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและอาโรคยศาลา กรุงเทพฯ รพ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ รพ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต รพ.นพรัตน์ราชธานี กทม. รพ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และรพ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ด้านนายแพทย์สุรัติ เล็กอุทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดำเนินสะดวก กล่าวว่า รพ. ดำเนินสะดวก เปิดคลินิกการแพทย์แผนไทยตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีหมอนวดแผนไทยประมาณ 30 คน มีบริการนวดไทยเพื่อการรักษาและเพื่อส่งเสริมสุขภาพ การอบ ประคบสมุนไพร การใช้ยาสมุนไพรรักษาโรค และฝังเข็ม นอกจากนี้ ยังมีบริการสปาเพื่อสุขภาพ คลินิกดูแลผิวหน้า สปาศีรษะบริการดูแลสุขภาพผิวหน้าและผิวกาย ทัวร์สุขภาพ มีผู้รับบริการที่คลินิกแพทย์แผนไทยเฉลี่ยปีละ 20,000 ครั้ง หรือร้อยละ 15 ของผู้รับบริการทั้งหมดของโรงพยาบาล สร้างรายได้แก่รพ.ได้ปีละ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเวชสำอางสมุนไพรที่โรงพยาบาลผลิตเองภายใต้นโยบายของดีราคาถูก รวม 32 ชนิด จำหน่ายปีละประมาณ 1 ล้านบาท สำหรับทัวร์สุขภาพ จะมีการตรวจสุขภาพครบวงจร นวดส่งเสริมสุขภาพ การออกกำลังกาย อาหารเพื่อสุขภาพ ฝึกโยคะ ฝึกสมาธิ และจัดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในปี 2552 มีผู้รับบริการ 1,861 คน มีรายได้เกือบ 6 ล้านบาท ผลการตรวจสุขภาพพบว่ากว่าร้อยละ 70 มีภาวะไขมันในเลือดสูง และป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวานร้อยละ 10 ความดันโลหิตสูงร้อยละ 16 จากการประเมินผลผู้รับบริการกว่าร้อยละ 90 มีความพึงพอใจในระดับสูง นอกจากนี้โรงพยาบาลดำเนินสะดวก ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำวิจัยทางคลินิกเรื่องการใช้ลูกประคบไพลสดรักษาผู้ป่วยข้อเข่าอักเสบ พบว่าได้ผลดี อาการปวดเข่าลดลง และสามารถบริหารข้อเข่าเพื่อฟื้นฟูสภาพได้เร็วขึ้น ได้นำมาใช้ในคลินิกรักษาผู้ป่วยได้แล้ว ขณะนี้กำลังวิจัยต่อยอดโดยใช้เจลสกัดจากไพลสด ทารักษาข้อเข่าอักเสบอยู่ระหว่างทดลอง และกำลังศึกษาประสิทธิผลการใช้เทคนิคในการนวดเพื่อกระชับเอวลดพุง ในกลุ่มทดลอง 30 คน และกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมศึกษาวิจัยการเหยียบกะลาเพื่อลดอาการปวดต้นคอและสะบัก ซึ่งพบมากในคนทำงานออฟฟิศ ครู และคนที่นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีข้อมูลว่าสามารถบำบัดอาการดังกล่าวได้ ไม่ต้องเข้าผ่าตัด คาดว่าจะใช่เวลาศึกษาประมาณ 2 ปี หากผลการวิจัยยืนยันว่ามีประสิทธิผลในการรักษาได้จริง จะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเจ็บตัวจากการผ่าตัดอีกด้วย ************************************ 11 พฤศจิกายน 2552


   
   


View 15    11/11/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ