รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวัง 6 โรคที่มาพร้อมกับภัยหนาว เผยช่วงฤดูหนาว 4 เดือนปีที่ผ่านมา มีประชาชนป่วยด้วย 6 โรคฤดูหนาว ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน สุกใสและอุจจาระร่วง รวมกว่า 500,000 ราย ร้อยละ 83 เป็นโรคอุจจาระร่วง รองลงมาคือปอดบวม เสียชีวิตรวม 353 ราย แนะประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกาย ล้างมือ หากเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรคาดหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลนี้ หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันก็อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ โรคที่เกิดขึ้นในฤดูหนาวมักจะเกิดกับเด็กและผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน สุกใส และอุจจาระร่วง สาเหตุส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อไวรัสซึ่งชอบอากาศหนาวเย็น กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยในสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ จึงขอให้ระมัดระวังดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะสามารถป้องกันโรคได้ทุกชนิด และได้ให้กรมควบคุมโรคออกประกาศการป้องกันโรคในฤดูหนาว เพื่อให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในวงกว้าง ในการปฏิบัติตัวไม่ให้เจ็บป่วยดังกล่าว ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ฤดูหนาว ในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551- กุมภาพันธ์ 2552 มีผู้ป่วยจากโรคฤดูหนาว 6 โรครวมกันทั่วประเทศ 545,980 ราย เสียชีวิต 353 ราย มากที่สุดร้อยละ 83 เป็นโรคอุจจาระร่วง 455,010 ราย เสียชีวิต 32 ราย รองลงมาคือปอดบวมป่วย 43,247 ราย เสียชีวิต 321 ราย อีก 4 โรคไม่มีผู้เสียชีวิต ได้แก่ โรคสุกใส 39,012 ราย ไข้หวัดใหญ่ 6,113 ราย โรคหัด 2,383 ราย และหัดเยอรมัน 215 ราย ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน สุกใส เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ทางการไอจาม โดยเชื้อโรคจะอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และอาจติดจากการใช้ภาชนะ และสิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น โดยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เมื่อเริ่มมีอาการ ควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้นหรือมีไข้สูงนานเกิน 2 วันควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะเด็กเล็กหากหายใจเร็ว หอบ หรือหายใจแรง จนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือ โรคปอดบวม ซึ่งมีความรุนแรง ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด เช่นโรคหัวใจ นายแพทย์มานิต กล่าวต่อว่า โรคหัดมักเกิดในเด็กโตและวัยรุ่น ระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อฤดูร้อน หรือช่วงที่เด็กทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นการรับน้อง อาการจะเริ่มจากมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง หลังมีไข้ประมาณ 4 วันจะมีผื่นขึ้น ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายทั่วตัว เด็กที่ป่วยเป็นหัด ให้แยกออกจากเด็กอื่นๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยผื่นจะจางหายไปภายใน 2 สัปดาห์ หากเกิดในเด็กที่เป็นโรคขาดสารอาหารจะมีอาการรุนแรง มีโรคแทรกซ้อน เช่นปอดอักเสบ ช่องหูอักเสบ สมองอักเสบได้ โรคหัดเยอรมันเป็นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก มีอาการไข้ ออกผื่นคล้ายโรคหัด บางรายอาจไม่มีผื่นขึ้น หากเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ดังนั้นควรพบแพทย์และหยุดงานหรือหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีบริการฉีดวัคซีนหัดให้เด็กอายุ 9-12 เดือนและวัคซีนรวม ป้องกันได้ 3 โรค ทั้งโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม ให้กับเด็กอายุ 4 - 6 ปี จะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต ส่วนโรคสุกใส มักจะเกิดในเด็ก เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต อาการจะเริ่มด้วยไข้ต่ำๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสหลังมีไข้ 2-3 วัน จากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง และแห้งตกสะเก็ด และหลุดออกเองประมาณ 5 - 20 วัน เด็กนักเรียนที่ป่วยควรหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เด็กเล็กที่ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการอักเสบจากการเกาที่ผื่น นายแพทย์มานิตกล่าวอีกว่า สำหรับโรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาว มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไป เด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาการแรกเริ่มอาจคล้ายไข้หวัดก่อนถ่ายเหลว โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่เด็กบางคนอาจขาดน้ำรุนแรง ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากเด็กที่ป่วยจะมีน้ำหนักลดลง การเจริญเติบโตหยุดชะงักไปพักหนึ่ง ทั้งนี้ หากมีเด็กในบ้านถ่ายเหลว ควรให้อาหารเหลวบ่อยๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด ให้ดื่มนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากยังถ่ายบ่อย ให้ผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้ดื่มบ่อยๆ อาการจะกลับเป็นปกติภายใน 2-7 วัน หากรักษาเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที สำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งสะอาด ปลอดภัย เด็กมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ได้ดี ผู้ที่ดูแลเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ให้เด็กกินอาหารที่สุกใหม่ๆ และดื่มน้ำต้มสุก โดยให้เด็กที่ป่วยถ่ายอุจจาระลงในภาชนะที่รองรับมิดชิด แล้วนำไปกำจัดในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย **************************** 8 พฤศจิกายน 2552


   
   


View 12    08/11/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ