กระทรวงสาธารณสุข จับมือกระทรวงศึกษาธิการ ระดมพลังนักศึกษาแพทย์ ประมาณ 10,000 คนใน 19 สถาบัน ร่วมเป็นแกนนำรณรงค์ให้ความรู้เป็นภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 สร้างความเชื่อมั่นประชาชน เริ่มแห่งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันพฤหัสหน้า ส่วนด้านการรักษา เตรียมความพร้อมระดับสูงทุกด้าน มียาต้านไวรัสเพียงพอ 12 ล้านเม็ด และสั่งเพิ่มสำรองยาซานามิเวียร์อีก 50,000 ชุด วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวความร่วมมือในโครงการระดมนักศึกษาแพทย์ ร่วมต้านไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการขยายความร่วมมือการรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์พบว่าปีนี้ฤดูหนาวมาเร็วกว่าปกติ จากเดิมที่คาดว่าอากาศจะเริ่มหนาวต้นเดือนธันวาคม สำนักระบาดวิทยาประเมินว่าสภาพอากาศที่หนาวเย็น จะทำให้เชื้อไวรัสอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน ทำให้แพร่เชื้อได้มากขึ้น จึงต้องเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตัวไม่ให้ป่วยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการระบาดในช่วงระลอกแรก มีแนวโน้มลดลงทั้งการป่วยและเสียชีวิต นายวิทยากล่าวต่อว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ สสส. จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะให้การสนับสนุนทางด้านข้อมูลวิชาการ จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา จากกรมควบคุมโรค ไปชี้แจงสถานการณ์ของโรคในระดับโลกและประเทศ ให้ทันเหตุการณ์ทุกขณะ รวมทั้งการให้ข้อมูลคำแนะนำการป้องกันโรค เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาแพทย์ทุกชั้นปีก่อนออกรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เป็นวัคซีนภาคประชาชน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดหรือวันที่มีค่ายกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษา จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการป้องกัน เริ่มในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2552 โดยจะอบรมแกนนำนักศึกษาแพทย์ และสาขาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ของมหาวิทยาลัยทุกแห่งในเขต กทม. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ได้หารือกับนายแพทย์มงคล ณ สงขลา ประธานการรณรงค์ของ สสส. เตรียมระดมเครือข่ายที่เคยร่วมรณรงค์กับ สสส. เช่นแท็กซี่ รถเมล์ รถตู้ สายการบิน มาร่วมรณรงค์ครั้งใหญ่ เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนในการป้องกันตัวจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ด้านนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้ลงนามความร่วมมือ กับ สสส. รณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เริ่มช่วงแรกตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ในกลุ่มบุคลากร นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และในช่วงที่ 2 จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีทั้งหมด 19 แห่ง อยู่ในสังกัดสกอ. 16 แห่ง กทม. 1 แห่ง กลาโหม 1 แห่ง และเอกชน 1 แห่ง มีนักศึกษาทุกชั้นปีเกือบ 10,000 คน โดยจะเริ่มในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม และขยายผลทั่วประเทศต่อไป นอกจากนี้จะให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ด้วย ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการเตรียมรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลอก 2 ในช่วงฤดูหนาวนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับระบบการบริหารการเข้าถึงยาต้านไวรัส โดยได้ให้คณะกรรมการด้านการแพทย์ทบทวนคู่มือรักษาให้กระชับขึ้น เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที และได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง และ แยกพื้นที่บริการไม่ปะปนกับผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งเตรียมความพร้อมห้องผู้ป่วยหนัก เครื่องช่วยหายใจ และยาต้านไวรัส และยาต่าง ๆ ที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้การใช้ยาต้านไวรัสรักษาได้ผลดี มีโอกาสดื้อยาน้อยมาก และยังไม่พบเชื้อกลายพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไว้อย่างเพียงพอ 12 ล้านเม็ด และสำรองยาซานามิเวียร์เพิ่มอีก 50,000 ชุด สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ไทยสั่งไว้ 2 ล้านโด๊ส จะมาถึงไทยเดือนธันวาคมนี้ 1 ล้านโด๊ส และในมกราคม 2553 อีก 1 ล้านโด๊สนั้น คณะกรรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ได้พิจารณาจัดกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องฉีดก่อน 5 กลุ่ม กลุ่มแรกคือบุคลากรสาธารณสุข 2.หญิงที่ตั้งครรภ์อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป 3.คนอ้วนน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม 4. ผู้พิการทางสมอง 5. ผู้มีโรคประจำตัวเรื่องรัง ได้แก่ โรคปอด เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยารายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในรอบวันที่ 18 – 31 ตุลาคม 2552 มีผู้ป่วยยืนยันเสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มจำนวน 2 ราย โดยมีภาวะเสี่ยงคือโรคประจำตัวและหญิงตั้งครรภ์ มารับบริการค่อนข้างล่าช้าทำให้ไม่ได้รับยาต้านไวรัสภายใน 3 วันหลังป่วย สรุปจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 เป็นต้นมารวม 184 ราย ไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน *********************************** 4 พฤศจิกายน 2552


   
   


View 13    04/11/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ