โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงของไทยรอบ 9 เดือนในปีนี้ พบผู้ป่วย 950,979 ราย ลดลงจากปี 2551 เกือบ 50,000 ราย เป็นผลมาจากการรณรงค์ประชาชนกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือมากขึ้น แต่ยังพบคนไทยราวร้อยละ 60 มีพฤติกรรมเสี่ยงป่วย เพราะไม่แยกใช้เขียงและมีดหั่นอาหารดิบสุก ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และไม่ใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกับคนอื่น
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันของประเทศ ซึ่งเกิดจากการบริโภคน้ำและอาหารไม่สะอาดว่า ในรอบ 9 เดือน ตั้งแต่มกราคมถึงกันยายน 2552 สำนักระบาดวิทยา รายงานทั่วประเทศ พบผู้ป่วย 950,979 ราย เสียชีวิต 66 ราย โดยประมาณ 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกือบร้อยละ 60 อายุ 15 ปีขึ้นไป และเมื่อเทียบกับปี 2551 ในช่วงเดียวกัน พบว่าจำนวนผู้ป่วยปีนี้ลดลง 47,259 ราย หรือลดลงร้อยละ 4
นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า สาเหตุที่จำนวนผู้ป่วยในปีนี้ลดลง เป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ประชาชนกินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนกินอาหาร และในปีนี้มีโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2552 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำประชาชนปฏิบัติใน 3 เรื่องนี้อย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อติดต่อกัน จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นในเดือนกรกฎาคม 2551 มีผู้ป่วย 107,052 ราย ส่วนปี 2552 มีผู้ป่วย 88,899 ราย ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดคงมาตรการกินร้อนช้อนกลาง ล้างมือป้องกันโรคไข้หวัด 2009 อย่างต่อเนื่อง
ด้านนางเพ็ญศรี เกิดนาค ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า กองสุขศึกษาได้เฝ้าระวังพฤติกรรมการป้องกันโรคอุจจาระร่วงตามสุขบัญญัติแห่งชาติในปี 2552 โดยสุ่มสำรวจกลุ่มประชาชนอายุ 15-60 ปี ทั่วประเทศจำนวน 1,520 คน ในเดือนเมษายน 2552 เพื่อศึกษาพฤติกรรมของประชาชนในการป้องกันโรคอุจจาระร่วง และมาตรการปรับแก้พฤติกรรมเสี่ยงที่นำมาสู่การป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง ผลการศึกษา พบว่า ในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75 มีความรู้เรื่องอุจจาระร่วงอย่างถูกต้อง แต่ถ้าเป็นผู้ที่เคยป่วยจากโรคนี้มาแล้ว จะมีความรู้ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 78 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการปฏิบัติที่ถูกต้องอันดับแรก ได้แก่ ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะร้อยละ 88 เก็บอาหารในที่ปลอดหนู แมลงวัน หรือสัตว์อื่น ๆ ร้อยละ 75
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างจะมีความรู้การป้องกันโรคในระดับดีก็ตาม แต่การปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด โดยมีการแยกใช้เขียงและมีดหั่นอาหารดิบและสุกทุกครั้งเพียงร้อยละ 31 ล้างมือด้วยสบู่ก่อนกินอาหารร้อยละ 39 ใช้ช้อนกลางตักอาหารเมื่อกินร่วมกับผู้อื่นร้อยละ 41 และอุ่นอาหารค้างคืนก่อนกินร้อยละ 44 จึงต้องเร่งปลูกฝังพฤติกรรมที่ถูกต้อง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใช้กลวิธีทางสุขศึกษา ในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และไม่ควรเน้นเฉพาะการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ควรสร้างความตระหนักให้กับประชาชนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง
************************************* 27 ตุลาคม 2552
View 36
27/10/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ