สาธารณสุข เผยขณะนี้มีหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นปีละเกือบ 6,000 ราย พบมากอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยร้อยละ 56 พบหมอช้า เนื่องจากไม่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ไม่เคยคลำตรวจเต้านมตัวเอง เร่งรณรงค์กระตุ้นให้หญิงไทยใช้ 3 นิ้วคลำตรวจเต้านมตนเองทุกเดือน ชี้หากรักษาเร็วก่อนมะเร็งลุกลามโอกาสหายสูงร้อยละ 80-90
วันนี้ (21 ตุลาคม 2552) ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน มหกรรมต้านภัยมะเร็งเต้านม ครั้งที่ 9 ซึ่งในเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ทั่วโลกรณรงค์โรคมะเร็งเต้านมอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อสร้างกระแสให้ผู้หญิงตื่นตัวในการตรวจก้อนมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และให้ความสนใจดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น
นายมานิต กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 3 ของสตรีทั่วโลก แต่ละปีพบผู้ป่วยใหม่ 910,000 ราย และเสียชีวิตปีละ 519,000 ราย ในส่วนของไทยพบมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นปีละ5,854 รายหรือพบได้ 21คนในผู้หญิงทุก 1 แสนคน สูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก ในปี 2551 มีผู้ป่วยโรคนี้เข้ารักษาตัว 23,356 ราย คาดว่าปีนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่จะเพิ่มเป็น 12,000 ราย โดยเฉพาะผู้หญิงในเขตกทม. พบอัตราการป่วยด้วยมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับ 1 พบได้แสนละ 25 คน
ที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 56 มาพบแพทย์หลังจากที่มะเร็งลุกลามไปแล้ว เนื่องจากไม่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง เพราะไม่เคยตรวจเต้านมมาก่อน ภายหลังการรักษาจึงไม่มีโอกาสรอดชีวิต ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งทุกจังหวัด ให้ความรู้เพื่อกระตุ้นผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละ 1 ครั้ง หากพบก้อนหรือสิ่งผิดปกติใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะหากเจอมะเร็งในระยะแรกที่ก้อนมะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่อวัยวะอื่น จะทำให้การรักษาได้ผลดีโอกาสหายสูงถึงร้อยละ 80-90
ทางด้าน นายแพทย์วิวัฒน์ วิริยกิจจา รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านม พบได้ทุกช่วงอายุแต่พบมากอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นโรคที่ตรวจพบได้โดยการคลำตรวจเต้านมด้วยตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ โดยตรวจหลังจากที่เริ่มมีประจำเดือน 7 วัน วิธีคลำให้ใช้ 3 นิ้วคือ ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง คลำในลักษณะคลึงเบา ๆ ให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม ก้อนที่คลำได้บริเวณเต้านม ไม่ใช่ถุงน้ำหรือเนื้องอกธรรมดาเสมอไป อาจเป็นมะเร็งเต้านมได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ทั้งนี้ สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน มักพบในหญิงมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือผู้หญิงโสด หรือแต่งงานแต่ไม่มีบุตร ผู้ที่มีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 12 ปี และหมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 50 ปี ผู้ที่ดื่มสุรา เป็นโรคอ้วน กินอาหารไขมันสูงและขาดการออกกำลังกาย ในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 1 ชั่วโมง รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง งดดื่มสุราและงดสูบบุหรี่ นายแพทย์วิวัฒน์กล่าว
****************************** 21 ตุลาคม 2552
View 10
21/10/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ